สาธารณสุขร้อยเอ็ด ระดมกำลังเฝ้าระวังและควบคุมโรคไข้เลือดออก ในช่วงฤดูกาลระบาด
นายสุระ วิเศษศักดิ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคไข้เลือดออกจังหวัดร้อยเอ็ด ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๗ ถึงวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๕๗ มีรายงานผู้ป่วยไข้เลือดออกจากรายงาน ๕๐๖ จำนวน ๔๕ ราย ไม่มีผู้ป่วยเสียชีวิต อัตราป่วยเท่ากับ ๓.๔๔ ต่อแสนประชากร จำนวนผู้ป่วยในเดือนมกราคม ถึงเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๗ น้อยกว่าค่ามัธยฐาน ๕ ปี ในช่วงเวลาเดียวกัน ประมาณ ๕.๒ เท่า อัตราป่วยอยู่ลำดับที่ ๖๗ ของประเทศ ในช่วง ๔ สัปดาห์ล่าสุด (วันที่ ๔ พ.ค. ๓๑ พ.ค.๕๗) พบผู้ป่วยทั้งหมด ๑๓ ราย จาก ๒๐ อำเภอ ไม่มีผู้ป่วยเสียชีวิต
ถึงแม้ว่าในปี ๒๕๕๗นี้ อัตราการป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกจะน้อยกว่าทุกปี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด ก็ไม่ไว้วางใจในสถานการณ์ของการเกิดโรค เพราะว่ายังอยู่ในช่วงฤดูกาลระบาด (ช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคม เดือนสิงหาคม) ยังคงรุดหน้าเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกในช่วงฤดูกาลระบาด โดยการทำแผนออกติดตามประเมินความชุกลูกน้ำยุงลายด้วยการสำรวจในโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่ง สำนักงานสาธารณสุขอำเภอทุกอำเภอ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลอำเภอละ ๑ แห่งๆที่มีประวัติการระบาดของโรคไข้เลือดออกในปี ๒๕๕๖ และ ๒๕๕๗ หรือหมู่บ้านที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคคือมีความชุกลูกน้ำยุงลายสูง ระยะเวลาดำเนินการระหว่างวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ถึงวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๗ ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการมาแล้ว ๑๖ อำเภอ จากทั้งหมด ๒๐ อำเภอ ซึ่งมีแผนจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๗นี้
นายแพทย์สุระ วิเศษศักดิ์ กล่าวว่า การดำเนินงานออกติดตามประเมินความชุกลูกน้ำยุงลาย ในปีนี้ ขอชื่นชมสถานบริการสาธารณสุขทุกแห่ง ที่มีความกระตือรือร้นในการทำงาน และให้ความสำคัญในการดำเนินงานระวังป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกมาอย่างดียิ่งและต่อเนื่อง ขอขอบคุณชุมชนที่ให้ความร่วมมือและให้การต้อนรับคณะฯสำรวจเป็นอย่างดียิ่ง รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นผู้ที่ให้การสนับสนุนให้การดำเนินงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อยดี ทั้งนี้ การป้องกันควบคุมไข้เลือดออก หากจะให้ผลดีและลดอัตราการเจ็บป่วย พี่น้องประชาชนทุกคนจะต้องถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องร่วมด้วยช่วยกันอย่างจริงจังและต่อเนื่องโดยการใช้มาตรการ๕ป.๑ข.
มาตรการ ๕ ป ได้แก่
- ปิด : ปิดภาชนะน้ำดื่ม น้ำใช้ให้มิดชิด ป้องกันยุงลายวางไข่
- เปลี่ยน : น้ำในแจกัน ถังเก็บน้ำทุกวัน
- ปล่อย : ปลากินลูกน้ำในอ่างบัว อ่างซีเมนต์
- ปรับปรุง : สภาพแวดล้อมแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
- ปฏิบัติ : กิจกรรม ปิด /เปลี่ยน /ปล่อย /ปรับปรุง อย่างต่อเนื่องและเป็นนิสัย
มาตรการ ๑ ข คือ ขัด : ภาชนะที่มีน้ำขัง เพื่อกำจัดไข่ยุง.
/////////////////////////////////////////
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด
๖ มิถุนายน ๒๕๕๗
พิมลสิริ มณีฉาย ภาพ/ข่าว
สุขสันต์ อินทรวิเชียร /หัวหน้าฝ่ายสุขศึกษาและประชาสัมพันธ์
|