|
นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในช่วงปิดเทอมเดือนมีนาคม- พฤษภาคม เป็นช่วงอากาศร้อน เด็กๆ นิยมไปเล่นน้ำเพื่อคลายร้อน ทำให้พบสถิติการจมน้ำมากที่สุด ข้อมูล ในรอบ 11 ปี ตั้งแต่ 2546-2556 พบเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จมน้ำเสียชีวิตแล้วถึง 15,495 คน เฉลี่ยปีละ 1,291 คน หรือวันละเกือบ 4 คน เฉพาะในช่วง 3 เดือนอันตรายคือมีนาคม-พฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงปิดเทอม มีเด็ก เสียชีวิตจากการตกน้ำ จมน้ำสูงถึง 442 คน โดยกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จะมี***ส่วนการเสียชีวิตจากการตกน้ำ จมน้ำสูงถึงร้อยละ 30 แหล่งน้ำที่พบบ่อยร้อยละ 50 คือ แหล่งน้ำธรรมชาติ หนองน้ำ คลองชลประทาน อ่างเก็บน้ำ รองลงมา คือสระว่ายน้ำ พบร้อยละ 5 และอ่างอาบน้ำร้อยละ 3
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภาคที่มีจำนวนการจมน้ำสูงสุด รองลงมาเป็นภาคกลาง ภาคใต้ และภาคเหนือ ทั้งนี้ปัจจัยเสี่ยงต่อการจมน้ำตายในเด็กและผู้ใหญ่นั้น มีความแตกต่างกัน โดยในกลุ่มเด็กเล็กมีความสัมพันธ์กับการดูแลของผู้ดูแลเด็ก ส่วนในเด็กโตมีความสัมพันธ์กับการเล่นน้ำ
การตกน้ำ จมน้ำเป็นเรื่องที่ช่วยกันป้องกันได้ ดังนั้น ผู้ปกครอง ผู้ดูแลเด็ก อย่าปล่อยเด็กเล่นน้ำตามลำพัง แม้ว่าจะเป็นแหล่งน้ำใกล้บ้านหรือแหล่งน้ำที่คุ้นเคยก็ตาม ควรให้ความรู้เด็ก ควรสร้างรั้วล้อมรอบแหล่งน้ำและติดป้ายคำเตือน รวมทั้งการจัดให้มีอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำไว้บริเวณแหล่งน้ำ ส่วนเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้ปกครองต้องไม่ปล่อยให้เด็กอยู่ลำพังแม้เสี้ยวนาที ต้องมองเห็น เข้าถึงและคว้าถึงง่าย เพราะเด็กวัยนี้ จมน้ำง่าย เนื่องจากเด็กเล็กยังมีการทรงตัวไม่ดี
นายสุระ วิเศษศักดิ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด มีความห่วงใย จึงขอประชาสัมพันธ์ย้ำเตือน ผู้ปกครองให้ระมัดระวังเด็ก บุตร หลาน อย่างใกล้ชิดไม่ห่างสายตา และขณะเดียวกันก็ได้จัดเตรียมทีมแพทย์เพื่อให้การช่วยเหลือ หากพบเห็นผู้จมน้ำ สามารถโทรแจ้งขอความช่วยเหลือที่สายด่วน 1669 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด
๑๘ มีนาคม ๒๕๕๗
สุจิตรา ปัญญาดิลก / ข่าว
สุขสันต์ อินทรวิเชียร/
หัวหน้าฝ่ายสุขคึกษาและประชาสัมพันธ์ |
|
|