ร้อยเอ็ด คว้ารางวัล...ทีมเครือข่ายเฝ้าระวังสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว(SRRT)ที่มีผลงานดีเด่น ประจำปี ๒๕๕๖
เมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๗ เวลา ๑๐.๐๐ น. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ประทานวโรกาสให้นายสุระ วิเศษศักดิ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด เข้ารับประทานโล่รางวัล ทีมเครือข่ายเฝ้าระวังสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว(SRRT) ที่มีผลงานดีเด่น ประจำปี ๒๕๕๖ ในการประชุมวิชาการป้องกันควบคุมโรคแห่งชาติ ประจำปี ๒๕๕๗ ณ โรงแรมอิมพีเรียล ควีนส์ปาร์ค กรุงเทพมหานคร
นายแพทย์สุระ วิเศษศักดิ์ กล่าวว่า นี่คืออีกหนึ่งรางวัลแห่งความภาคภูมิใจ ของชาวสาธารณสุขร้อยเอ็ด นั่นคือ รางวัลทีมเครือข่ายเฝ้าระวังสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว(SRRT) ที่มีผลงานดีเด่น ประจำปี ๒๕๕๖ ๑๒ ปี SRRT จังหวัดร้อยเอ็ด จากอดีต สู่ปัจจุบัน และอนาคต
นางสาวสุภาภรณ์ มิตรภานนท์ หัวหน้าฝ่ายระบาดวิทยา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด เปิดเผยเกี่ยวกับความสำเร็จในการดำเนินงานเฝ้าระวังสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว(SRRT) ซึ่งได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องและมีระบบ ว่า :
ก้าวแรกจากอดีต > งานระบาดวิทยามีการเฝ้าระวังเฉพาะโรคติดต่อ (รายงาน ๕๐๖) มีผู้รับผิดชอบในระดับจังหวัด ๑-๒ คน โดยอยู่รวมกับฝ่ายแผนงานและประเมินผล ซึ่งจะทำเฉพาะระบบข้อมูลรายงานเป็นหลัก
ก้าวที่สองของการพัฒนา > ในปี ๒๕๔๖ ผู้บริหารเห็นความสำคัญของงานระบาดวิทยา จึงจัดตั้งเป็นศูนย์ระบาดวิทยาระดับจังหวัด มีเจ้าหน้าที่ระบาดวิทยา ๔ คน ขยายการเฝ้าระวังให้ครอบคลุมทั้งโรคติดต่อและไม่ติดต่อ การเฝ้าระวังการบาดเจ็บ และการเฝ้าระวังโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กำหนดนโยบายให้จัดตั้งศูนย์ระบาดวิทยาและทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว SRRT ในทุกอำเภอ เพื่อให้สอดคล้องไปกับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขในการเตรียมความพร้อมรับการระบาดของโรคและภัยสุขภาพในพื้นที่ จากการวิเคราะห์และประเมินสภาพปัญหาพบว่า ระบบข้อมูลมีความครบถ้วน ความครอบคลุมการส่งรายงาน น้อยกว่าร้อยละ ๕๐ ดังนั้น ศูนย์ระบาดทั้งในระดับอำเภอและจังหวัด จึงได้มีการกำหนดกติกาและหลักเกณฑ์ร่วมกันในการส่งรายงานและกำหนดเป็นตัวชี้วัด(KPI)ในการติดตามและประเมินผลปฏิบัติงาน รวมทั้งมีการกำกับติดตามในประชุมผู้บริหารระดับจังหวัดและอำเภอ และมีการพัฒนางาน ด้วยการ :
จุดประกายของการพัฒนา โดยการสร้างทีมงาน/สร้างเครือข่าย ให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน มีแกนหลักผู้รับผิดชอบในระดับโรงพยาบาลและระดับอำเภอและขับเคลื่อนการดำเนินงาน ภายใต้แนวคิด ร่วมกันคิด ช่วยกันทำ ทีมงานเข้มแข็ง พร้อมทำงานด้วยใจรัก เสียสละ มุ่งมั่น ถึงจะเหนื่อยแค่ไหน เราก็จะก้าวเดินไปด้วยกัน เพื่อประชาชนร้อยเอ็ด ปลอดโรค ปลอดภัย
แรงผลักดันที่สำคัญคือผู้บริหาร ซึ่งเปรียบเสมือนแม่ทัพใหญ่ ที่ให้ความสำคัญ เป็นขวัญกำลังใจและส่งเสริมการดำเนินงานในทุกด้าน เช่น ให้รางวัลสำหรับการดำเนินงานของเครือข่ายที่มีผลงานเด่นทุกปี สนับสนุนทรัพยากรในการออกสอบสวนโรค ทั้งทีม SRRT จังหวัดและอำเภอ
ผลสัมฤทธิ์จากการทำงานเฝ้าระวังและสอบสวนโรคและภัยสุขภาพตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน : เครือข่ายSRRTจังหวัดร้อยเอ็ด มีความครอบคลุมในการรายงานระบบเฝ้าระวังโรคติดต่อ(รง๕๐๖) ,ระบบเฝ้าระวังโรคเอดส์ (รง ๕๐๖/๑) ,ระบบเฝ้าระวังโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม (รง ๕๐๖/๒) ,ระบบเฝ้าระวังการบาดเจ็บอุบัติเหตุจราจรและการตกน้ำจมน้ำ รวมถึงอุบัติภัยต่างๆ มากกว่าร้อยละ ๙๐ ของสถานบริการ ทั้งนี้ ศูนย์ระบาดวิทยาจังหวัดร้อยเอ็ดเป็นแม่ข่ายในการส่งคืนข้อมูลกลับให้SRRTอำเภอและตำบล ให้มีข้อมูลเพื่อใช้ในการวางแผนป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่ เกิดภาคีเครือข่ายการเฝ้าระวังการแจ้งข่าวสารและเหตุการณ์ผิดปกติในพื้นที่ ทำให้มีการสื่อสารระหว่างเครือข่ายได้หลายช่องทาง ตลอดเวลา สามารถตอบสนองต่อโรคและภัยสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ก้าวต่อไปของการพัฒนา : เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืน ของระบบเฝ้าระวังสอบสวนโรคและภัยสุขภาพ จังหวัดร้อยเอ็ด โดยสร้างและขยายเครือข่ายการเฝ้าระวังและสอบสวนในชุมชนของ เครือข่ายSRRTระดับตำบล ทั้งนี้ จะระดมภาคีเครือข่ายในชุมชนเพื่อเป็นกำลังในการพัฒนาต่อไป
จากวันนั้นถึงวันนี้ ครอบครัวSRRTร้อยเอ็ด เป็นเครือข่ายมีความผูกพันเสมือนพี่น้อง ไม่ว่างานจะหนักแค่ไหน ครอบครัวSRRTร้อยเอ็ด ก็จะให้กำลังใจกันอยู่เสมอ เพื่อจุดประสงค์ที่SRRTทุกคนเห็นเหมือนกัน คือ หยุดยั้งการระบาด ลดความเสี่ยง ให้ประชาชนชาวร้อยเอ็ด ปลอดโรค ปลอดภัย.////////////////////////////////////////////
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด
๑๘ มีนาคม ๒๕๕๗
พิมลสิริ มณีฉาย ภาพ/ข่าว
สุขสันต์ อินทรวิเชียร /หัวหน้าฝ่ายสุขศึกษาและประชาสัมพันธ์ |