จังหวัดร้อยเอ็ด จึงได้ปรับบทบาทของ War room เป็น ศูนย์ปฏิบัติการเอาชนะไข้เลือดออกตามมติและข้อสั่งการของกระทรวงสาธารณสุข เรื่องเร่งรัดมาตรการป้องกันและควบคุมการระบาดไข้เลือดออก
เมื่อวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๕๖ เวลา ๑๔.๓๐ น. ณ ห้องประชุมชบา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด นายแพทย์สุระ วิเศษศักดิ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นประธานในการประชุม War room ไข้เลือดออก ครั้งที่ ๕ ได้เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคไข้เลือดออกของจังหวัดร้อยเอ็ด ปี ๒๕๕๖ ข้อมูล ณ วันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๖ ตั้งแต่ ๑ มกราคม ถึง ๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๖ มีรายงานผู้ป่วยไข้เลือดออกจากรายงาน ๕๐๖ จำนวน ๓,๔๐๘ ราย ไม่มีผู้ป่วยเสียชีวิต อัตราป่วยเท่ากับ ๒๖๑.๑๔ ต่อแสนประชากร ในช่วงเดือนสิงหาคม ๒๕๕๖นี้ จังหวัดร้อยเอ็ด มีผู้ป่วยสูงอยู่ในลำดับที่ ๖ ของประเทศ และเป็นลำดับที่ ๒ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองจากจังหวัดเลย จำนวนผู้ป่วยในเดือนมกราคมถึงเดือนสิงหาคม ๒๕๕๖ มากกว่าค่ามัธยฐาน ๕ ปี ในช่วงเวลาเดียวกันประมาณ ๓.๗๐ เท่า และจำนวนผู้ป่วยเพิ่มสูงมากขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงฤดูกาลระบาดของโรคไข้เลือดออก กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยสูงสุด คือ กลุ่มเด็กนักเรียน อายุ ๑๐-๑๔ ปี อายุ ๕-๙ ปี และ ๑๕-๒๔ ปี พื้นที่เกิดโรคไข้เลือดออก ในปี ๒๕๕๖ พบผู้ป่วย ๒๐ อำเภอ ๑๘๘ ตำบล ๑,๒๐๕ หมู่บ้าน
จังหวัดร้อยเอ็ด จึงได้ปรับบทบาทของ War room เป็น ศูนย์ปฏิบัติการเอาชนะไข้เลือดออกตามมติและข้อสั่งการของกระทรวงสาธารณสุข เรื่องเร่งรัดมาตรการป้องกันและควบคุมการระบาดไข้เลือดออก โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ดเป็นเลขานุการศูนย์ ส่วนระดับอำเภอให้เปิดศูนย์ปฏิบัติการเอาชนะไข้เลือดออก โดยมีนายอำเภอเป็นประธาน และสาธารณสุขอำเภอเป็นเลขานุการศูนย์ โดยมีวิธีการดำเนินการ ดังนี้ : ติดตามสถานการณ์โรคไข้เลือดออก วิเคราะห์พื้นที่เป้าหมาย ชี้เป้าในการดำเนินการ ระดมทรัพยากรในการดำเนินการควบคุมป้องกันไข้เลือดออกตามยุทธศาสตร์ รวมพลังเอาชนะไข้เลือดออก ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง๘ สัปดาห์ และมีการติดตามประเมินผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ให้ศูนย์ฯอำเภอ รายงานการประชุมและกิจกรรมให้ศูนย์ฯจังหวัดทราบทุกวันที่ ๑ และ ๑๕ ของเดือน เริ่มเดือนกันยายน ๒๕๕๖นี้
นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวเน้นย้ำว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออก ยังคงเป็นปัญหาหนักที่สถานบริการสาธารณสุขทุกแห่งควรให้ความสำคัญ โดยเฉพาะในโรงพยาบาล ให้ดำเนินการ ดังนี้ : กรณีที่ผู้ป่วยไข้เลือดออกเป็นผู้ใหญ่ควรเฝ้าระวังทำทูนิเก้เทสต์ทุกรายตามแนวทางการรักษาของกรมควบคุมโรค หากมีผู้ป่วยที่ต้องส่งต่อให้ส่งในเวรเช้าและตอนเช้า เพราะการตรวจ lab จะทำได้ดีกว่า ในตึกผู้ป่วยในให้ตระหนักและให้ความสำคัญเรื่องไข้เลือดออก ควรแจกยาทากันยุงให้ญาติและผู้ป่วย ส่วนการดำเนินการในชุมชน ให้รณรงค์ประชาสัมพันธ์ทุกรูปแบบ กระตุ้นให้ความรู้ประชาชนในทุกพื้นที่อย่างจริงจังและต่อเนื่อง.
//////////////////////////////////////////////////////
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด
๓ กันยายน ๒๕๕๖
พิมลสิริ มณีฉาย ภาพ/ข่าว
สุขสันต์ อินทรวิเชียร /หัวหน้าฝ่ายสุขศึกษาและประชาสัมพันธ์ |