สธ.ร้อยเอ็ด พัฒนาคุณภาพระบบการจัดการข้อมูลของสถานบริการ เพื่อประโยชน์สูงสุดสำหรับประชาชนผู้มารับบริการ
วันนี้(๒๘ ส.ค.๕๖) เวลา ๐๙.๓๐ น. ณ ห้องประดับเพชร โรงแรมเพชรรัชต์การ์เด้นร้อยเอ็ด นางอาภารดี โคเวียง รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมโครงการพัฒนาคุณภาพการให้รหัสโรค รหัสหัตถการ และรหัสกิจกรรม การให้บริการปฐมภูมิในชุมชน สำหรับหน่วยบริการปฐมภูมิจังหวัดร้อยเอ็ด ประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๖ มีนายบุญเลิศ พิมศักดิ์ หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนายุทธศาสตร์สาธารณสุข เป็นผู้กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์ของการจัดอบรมในครั้งนี้ว่า
ด้วยกระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดแนวทางในการพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสาธารณสุขในระดับปฏิบัติการ คือ ฐานข้อมูลในระดับปฐมภูมิ ได้แก่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ,ศูนย์สุขภาพชุมชน และโรงพยาบาล โดยมีการออกแบบให้มีโครงสร้างที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ในรูปแบบแฟ้มมาตรฐาน ๔๓ แฟ้ม เก็บข้อมูลเป็นแบบรายบุคคล(Individual data) เพื่อสามารถเชื่อมโยงข้อมูลมาใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ ทั้งระดับตำบล อำเภอ และจังหวัด ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งผู้ให้บริการและประชาชนต่อไป แต่ก็พบปัญหาที่ข้อมูลไม่ผ่านเกณฑ์คุณภาพข้อมูล ได้แก่ ปัญหาข้อมูลรหัสบัตรประชาชน รหัสสิทธิ์ และข้อมูลรหัสการวินิจฉัยโรค เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการขาดการปรับปรุงฐานข้อมูลที่ไม่ทันสมัยและขาดความรู้ ความเข้าใจ ความตระหนักในการบันทึกข้อมูลให้ถูกต้องและครบถ้วน อีกทั้ง สถานบริการสาธารณสุขบางแห่ง ยังขาดการสนับสนุนระบบการจัดการข้อมูลสารสนเทศที่ดี นอกจากนี้ยังขาดการวิเคราะห์ตรวจสอบคุณภาพของข้อมูลในระดับพื้นที่อีกด้วย
ดังนั้น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด จึงจำเป็นจะต้องมีการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรและสนับสนุนระบบการจัดการข้อมูลของสถานบริการ ให้สามารถบันทึกข้อมูลของสถานบริการให้มีคุณภาพ โดยจัดทำโครงการพัฒนาคุณภาพการให้รหัสโรค รหัสหัตถการ และรหัสกิจกรรม การให้บริการปฐมภูมิในชุมชน สำหรับหน่วยบริการปฐมภูมิประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๖ ขึ้น
ผู้เข้าอบรม ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ผู้ตรวจวินิจฉัยและให้รหัสโรค ประจำ รพ.สต. และเจ้าหน้าที่เวชสถิติ ในโรงพยาบาลชุมชนที่ทำหน้าที่ทีมที่ปรึกษา ทุกแห่ง รวม ๒๕๑ คน
ระยะเวลาจัดการอบรม ๓ วัน ในระหว่างวันที่ ๒๘ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๖
วิธีการจัดอบรม : บรรยายให้ความรู้ แบ่งกลุ่ม ทบทวนเอกสารการวินิจฉัยโรค ตามกรอบแนวทางการให้รหัสโรค ICD10 TM 2012 และการฝึกทำแบบฝีกหัด ประกอบการตรวจวินิจฉัยและให้รหัสโรคผ่านโปรแกรม HosxP PCU
คณะวิทยากร : เจ้าหน้าที่เวชสถิติในโรงพยาบาล ซึ่งเป็นทั้งวิทยากรและพี้เลี้ยงที่ปรึกษาในแต่ละอำเภอ.
//////////////////////////////////////////
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด
๒๘ สิงหาคม ๒๕๕๖
พิมลสิริ มณีฉาย ภาพ/ข่าว
สุขสันต์ อินทรวิเชียร /หัวหน้าฝ่ายสุขศึกษาและประชาสัมพันธ์ |