|
๑๗ มีนาคม วันไตโลกห่วงใย คนไทย กินเค็ม
ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย เป็นห่วงคนไทย บริโภคเกลือและโซเดียมสูงเกินกว่าที่แนะนำถึง ๒ เท่า หรือ ๕,๐๐๐ มิลลิกรัมต่อวัน คนไทยได้รับโซเดียมจากการกินอาหารในแต่ละมื้อ ที่มีเครื่องปรุงรสซึ่งนิยมใช้มาก ๕ ลำดับแรก คือ น้ำปลา ซีอิ๊วขาว เกลือ กะปิ และซอสหอยนางรม โดยพบว่า
เกลือ ๑ ช้อนโต๊ะ มีโซเดียม ๖,๐๐๐ มิลลิกรัม
น้ำปลา ๑ ช้อนโต๊ะ มีโซเดียม ๑,๑๖๐ - ๑,๔๒๐ มิลลิกรัม
ซีอิ๊ว ๑ ช้อนโต๊ะ มีโซเดียม ๙๖๐ -๑๔๒๐ มิลลิกรัม
ซอสปรุงรส ๑ ช้อนโต๊ะ มีโซเดียม ๑,๑๕๐ มิลลิกรัม
กะปิ ๑ ช้อนโต๊ะ มีโซเดียม ๑,๔๓๐ - ๑,๔๙๐ มิลลิกรัม
ซอสหอยนางรม ๑ ช้อนโต๊ะ มีโซเดียม ๔๒๐ - ๔๙๐ มิลลิกรัม
อาหารถุงปรุงสำเร็จ เช่น ไข่พะโล้ แกงไตปลา คั่วกลิ้ง
มีปริมาณโซเดียม เฉลี่ยต่อถุง ๘๑๕-๓,๕๒๗ มิลลิกรัม
อาหารจานเดียว เช่น ข้าวหน้าเป็ด ข้าวมันไก่ ข้าวขาหมู และ ข้าวคลุกกะปิ
มีปริมาณโซเดียม ๑,๐๐๐-๒,๐๐๐ มิลลิกรัม ต่อ หนึ่งจาน
การรับประทานอาหารรสเค็มจัด จะส่งผลให้ความดันโลหิตสูง เพิ่มการรั่วของโปรตีนในปัสสาวะ และยังมีผลเสียต่อไตโดยตรง ทำให้หัวใจทำงานหนักเกิดภาวะหัวใจวาย ความดันโลหิตสูง และความดันในสมองเพิ่มขึ้น มีโอกาสเป็นโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต
ไตวายเรื้อรัง ภัยเงียบรสเค็ม เป็นภาวะที่เนื้อไตถูกทำลายอย่างถาวร ทำให้ไตค่อยๆ ฝ่อเล็กลง แม้อาการจะสงบแต่ไตจะค่อยๆ เสื่อมและเข้าสู่ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายในที่สุด สำหรับโรคไต เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุแต่สามารถป้องกันได้ หากตรวจพบและได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ เช่น การควบคุมโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงให้ดี แต่น่าเสียดายที่ผู้ป่วยโรคไตบางคน ละเลยการรักษา ทำให้ไตวายอย่างรวดเร็วจนเสียชีวิต
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด
๑๕มีนาคม ๒๕๕๖
สุจิตรา ปัญญาดิลก/ข่าว
|
|
|