[ หน้าหลัก ] | [ หน้าข่าวประชาสัมพันธ์ ] | [ ตั้งข่าวประชาสัมพันธ์ ]  

 

 
       

 


ตีแผ่...รพ.ศรีสมเด็จ หน่วยงานสนับสนุนงานมิตรภาพบำบัด ดีเด่นระดับชาติ
     
 

โรงพยาบาลศรีสมเด็จ หน่วยงานสนับสนุนงานมิตรภาพบำบัด ดีเด่นระดับชาติ

โรงพยาบาลศรีสมเด็จ ได้รับการคัดเลือกจาก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและมูลนิธิมิตรภาพบำบัดฯ ให้เป็นหน่วยงานสนับสนุนงานมิตรภาพบำบัด ดีเด่นระดับชาติ ซึ่งเป็นแบบอย่างการสร้างเครือข่ายจิตอาสามิตรภาพบำบัด ดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง

ณ ลานเอนกประสงค์ อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ กทม. มีการจัดงานมหกรรมคนไทยไม่ทอดทิ้งกัน และรำลึก ๕ ปี ที่จากไปของ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ “รวมพลังพื้นที่ รวมพลคนจิตอาสา ร่วมสร้างหลักประกันสุขภาพที่ยั่งยืน” ซึ่งจัดโดยมูลนิธิมิตรภาพบำบัดและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

นายแพทย์วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้เพื่อสืบสานปณิธานที่มุ่งขยายจิตอาสา มิตรภาพบำบัด สร้างหลักประกันสุขภาพให้ยั่งยืนของ นพ. สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ขยายแนวคิดและ การดำเนินงานจิตอาสามิตรภาพบำบัด "คนไทยไม่ทอดทิ้งกัน" ให้เป็นเครือข่ายและขยายเข้าสู่ระบบสุขภาพชุมชนผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล ขยายเครือข่ายจิตอาสา มิตรภาพบำบัด และเครือข่ายประชาสังคม ให้ครอบคลุมทุกจังหวัด ตลอดจนขยายบทบาทการสนับสนุนงานจิตอาสา ของมูลนิธิมิตรภาพบำบัด (นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์) ควบคู่กัน รวมถึงการมอบรางวัลมูลนิธิมิตรภาพบำบัด (นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์) ให้องค์กรและอาสาสมัคร ที่มีจิตอาสาและมีลงานมิตรภาพบำบัดดีเด่นประจำปี ๒๕๕๕

เรื่องนี้นายแพทย์ สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ทุ่มเทตั้งแต่เมื่อสมัยที่เป็นเลขาธิการสปสช.ซึ่งมีแนวทางสำคัญอย่างหนึ่งที่ท่านได้ฝากให้คนข้างหลังดำเนินการต่อก่อนจะเสียชีวิต ทั้งนี้ สปสช. สนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมมิตรภาพบำบัด เพื่อนช่วยเพื่อนในหน่วยบริการนำร่องตั้งแต่ปี ๒๕๔๙ และในปี ๒๕๕๒ ได้ขยายการดำเนินงานร่วมกับโรงพยาบาลทุกระดับในการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมมิตรภาพบำบัด เน้นการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เกิดกลุ่มช่วยเหลือดูแลกันเองในกลุ่มผู้ป่วยโดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยเรื้อรัง ปัจจุบันได้มีหน่วยบริการทุกระดับร่วมดำเนินงานศูนย์ส่งเสริมมิตรภาพบำบัด ภายใต้ความร่วมมือของ สปสช.และเครือข่ายชมรมผู้บริหารการพยาบาล

สำหรับรางวัลมูลนิธิมิตรภาพบำบัดทั้ง ๗ รางวัล แบ่งเป็น

ประเภทที่ ๑ ผู้ป่วย/ทีมอาสาสมัครมิตรภาพบำบัดดีเด่น ได้แก่
๑.นายสมพร ถมหนวด จ.ร้อยเอ็ด ผู้ป่วยทุพพลภาพจากอุบัติเหตุ เข้าร่วมเป็นอาสาสมัครมูลนิธิเมาไม่ขับให้คำปรึกษาและแนะนำทักษะการดำรงชีวิตของคนพิการ และรณรงค์ลดอุบัติเหตุ
๒.นายคำอ้าย สุนันต๊ะ จ.เชียงราย เป็นอาสาสมัครชมรมผู้พิการในท้องถิ่น

ประเภทที่ ๒ เจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการงานมิตรภาพบำบัดดีเด่น
๑.นางกันยารัตน์ มาเกตุ พยาบาล รพ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก ผู้ผลักดันมิตรภาพบำบัดใน รพ.และชุมชน
๒. พญ.รุจิรา มังคละศิริ จ.นครราชสีมา ผู้เปลี่ยนโรคมะเร็งเป็นพลังในการช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งด้วยกัน

ประเภทที่ ๓ หน่วยงาน/องค์กรสนับสนุนงานมิตรภาพบำบัด
๑.วัดโพธิ์ชัยศรี จ.บึงกาฬ พัฒนาวัดเป็นสถานีสาธารณะต้นแบบการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมของชุมชน
๒.รพ.ศรีสมเด็จ จ.ร้อยเอ็ด สร้างเครือข่ายจิตอาสามิตรภาพบำบัดดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง

ประเภทที่ ๔ สื่อสนับสนุนงานมิตรภาพบำบัดดีเด่น ได้แก่ เครือข่ายพุทธิกา ที่สร้างความรู้ความเข้าใจพุทธศาสนาและงานจิตอาสาให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง

โรงพยาบาลศรีสมเด็จ จังหวัดร้อยเอ็ด ได้รับการยกย่องให้เป็นองค์กร/หน่วยงานสนับสนุนงานมิตรภาพบำบัดดีเด่น ได้ดำเนินการสร้างเครือข่ายจิตอาสามิตรภาพบำบัดดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และงานมิตรภาพบำบัดที่ได้ดำเนินการมาแล้ว คือ ศูนย์มิตรภาพบำบัด เป็นศูนย์รวมมิตรจิต มิตรใจ จากเพื่อนผู้ให้และผู้รับ ได้แก่ กลุ่มเพื่อนผู้ป่วย ครอบครัว ญาติ/ผู้ดูแล อาสาสมัคร แพทย์ พยาบาล และทีมสหสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอก เพื่อร่วมกันดูแลเยียวยา ช่วยเหลือกันและกัน ด้วยหลักการดูแลอย่างเป็นองค์รวม และความเอื้ออาทร

ลักษณะของงานมิตรภาพบำบัด กิจกรรมในงานมิตรภาพบำบัดทุกอย่าง เป็นผลดีต่อบุคลากรในหน่วยงาน และสุขภาพของประชาชน เนื่องจากเอื้อต่อการดำเนินงานของทุกองค์กร เน้นความสามัคคี สมานฉันท์ ในองค์กร ทีมสหวิชาชีพและเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในการสร้างสรรค์ จรรโลงเพื่อเป้าหมาย คือ การบรรเทาทุกข์แก่เพื่อนมนุษย์ และสุขภาพของประชาชน นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ของคนในองค์กรเน้นพฤติกรรมบริการ ส่งเสริมให้เป็นผู้มีระเบียบวินัย จิตใจโอบอ้อมอารี และ มีความเสียสละ
ผลการดำเนินงานมิตรภาพบำบัด อำเภอศรีสมเด็จ

งานมิตรภาพบำบัด อำเภอศรีสมเด็จ เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๙ โดยการบูรณาการกับงานคุณธรรม จริยธรรมของโรงพยาบาล และได้ดำเนินการอย่างเป็นรูปแบบและมีศูนย์กลางการดำเนินงานมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ ตามแนวนโยบายของมูลนิธินายแพทย์สงวน นิตยารัมพงศ์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาลด้านการดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจ
ความเป็นมนุษย์ จนสามารถขยายเครือข่ายจิตอาสาได้หลายแขนง ทั้งภายในและภายนอกองค์กร ตัวอย่างเช่น
๑.จิตอาสา มิตรภาพบำบัด ผู้ป่วยเบาหวาน
๒.จิตอาสา มิตรภาพบำบัด ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง
๓.จิตอาสา มิตรภาพบำบัด ผู้ป่วยหอบหืด
๔.จิตอาสา มิตรภาพบำบัด ดูแลผู้พิการ
๕.จิตอาสา มิตรภาพบำบัด รายการวิทยุสุขภาพ
๖.จิตอาสา มิตรภาพบำบัด “คลินิกโรคเอดส์”
๗.จิตอาสา มิตรภาพบำบัด “โรคอ้วน”
๘.จิตอาสา มิตรภาพบำบัด คลินิกสุขภาพจิตและจิตเวช
๙.จิตอาสา มิตรภาพบำบัด ต้านยาเสพติด
๑๐.กลุ่มมิตรภาพบำบัดเครือข่ายจิตอาสา ดูแลผู้ป่วยระยะประคับประคองและระยะสุดท้าย
๑๑.กลุ่มมิตรภาพบำบัด เครือข่าย “สมาธิบำบัด”
๑๒.กลุ่มมิตรภาพบำบัด กองทุน “ข้าวต้มมิตรภาพ เพื่อผู้ป่วยเบาหวาน”
๑๓.กลุ่มจิตอาสา กลุ่มลูกจ้างและข้าราชการในเครือข่ายบริการสุขภาพฯ โดยบูรณาการงานสมาธิบำบัดเข้ากับทุกองค์กรในเครือข่ายบริการสุขภาพ ประชาชนในพื้นที่และเครือข่ายจิตอาสาทุกเครือข่าย จากการประเมินผลการดำเนินงาน พบว่ามีการดำเนินงานที่ดีทุกเครือข่าย เกิดมิตรภาพระหว่างผู้ให้และผู้รับบริการ และลดข้อร้องเรียนด้านพฤติกรรมบริการ ที่เป็นความเสี่ยงขององค์กร

ผลงานเด่นด้านมิตรภาพบำบัด

ผลงานด้านมิตรภาพบำบัดที่นับว่าดีเด่น ขอยกตัวอย่าง ได้แก่ กลุ่มมิตรภาพบำบัด กองทุน “ข้าวต้มมิตรภาพ เพื่อผู้ป่วยเบาหวาน” และกลุ่มมิตรภาพบำบัด เครือข่าย “สมาธิบำบัด”

ผลการดำเนินงานดีเด่นด้านกองทุนข้าวต้มมิตรภาพผู้ป่วยเบาหวาน ได้แก่ การสร้างส่วนร่วมในการบริจาคข้าวสารและเงินสมทบเพื่อเป็นการดูแลช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อจัดเป็นอาหารเช้าสำหรับผู้รับบริการใน คลินิกเบาหวานโดยไม่ได้ใช้งบประมาณทางราชการ ทำให้ผู้ป่วยที่งดอาหารมาได้รับประทานข้าวต้มหลังเจาะเลือด ลดความเครียดในเจ้าหน้าที่และผู้มารับบริการ เสริมกิจกรรมต่างๆในคลินิกได้เพิ่มขึ้น พึงพอใจและมีส่วนร่วมในการดูแลตนเอง เกิดความภาคภูมิใจในการมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของร่วมกับกองทุนและเกิดความสุขใจทั้งผู้ให้และผู้รับ

ในส่วน กลุ่มมิตรภาพบำบัด เครือข่าย“สมาธิบำบัด” นั้น ได้มีการทำการวิจัยสู่งานประจำเรื่อง “ผลการให้ความรู้และสมาธิบำบัดต่อพฤติกรรมการดูแลตนเองในผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมโรคได้ โรงพยาบาลศรีสมเด็จ จังหวัดร้อยเอ็ด ปี ๒๕๕๔” โดยได้นำท่าทาง ฝึกการหายใจเข้าออกที่ถูกวิธีและฝึกการมีสติ ของอาจารย์สมพร กันทรดุษฎี /เตรียม ชัยศรี มาใช้เพื่อทำการศึกษา

ผลการศึกษานี้สรุปได้ว่า การให้ความรู้และฝึกสมาธิบำบัดสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดและความดันของผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ ๒ ร่วมกับการรักษาของแพทย์แผนปัจจุบันได้จริง จะเห็นได้ว่า หากมีการนำกิจกรรมการทำสมาธิบำบัดมาใช้ในการรักษาแบบผสมผสานกับการรักษาแพทย์แผนปัจจุบัน หรือนำมาสอนญาติหรือผู้ดูแล จะทำให้ผู้ป่วยได้รับความสุขสบายเกิดความผ่อนคลาย และอวัยวะต่าง ได้ปรับลดเข้าสู่ภาวะสมดุล ส่งผลให้ผู้ป่วยมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง และจิตใจที่สมบูรณ์ เพื่อสามารถควบคุมเบาหวานได้ และยังสามารถปฏิบัติควบคู่ไปกับการดำเนินงานมิตรภาพบำบัดทุกกลุ่มได้อย่างเหมาะสม ช่วยสนับสนุนการดูแลแบบองค์รวมด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์อย่างแท้จริง

ปัจจัยแห่งความสำเร็จของงานมิตรภาพบำบัดอำเภอศรีสมเด็จ
๑.ประชาชนมีพื้นฐานที่ดีด้านการบริจาคทาน และความเสียสละ เนื่องจากเป็นเมืองพระ และได้พึ่งพาบารมีของหลวงปู่ศรี มหาวีโร
๒.ผู้บริหารให้การสนับสนุนส่งเสริม คณะทำงานและเครือข่าย มีพลังใจและความมุ่งมั่น ปฏิบัติงานด้วยความเสียสละและเอื้ออาทร.
/////////////////////////////
ข้อมูลโดย...ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โรงพยาบาลศรีสมเด็จ



สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด
๑๑ มีนาคม ๒๕๕๖



พิมลสิริ มณีฉาย /รายงาน
สุขสันต์ อินทรวิเชียร /หัวหน้าฝ่ายสุขศึกษาและประชาสัมพันธ์

 
     
      By : ประชาสัมพันธ์  Mail to ประชาสัมพันธ์    (1.4.144.*)  10/03/2013 08:57 PM  
 
 

 
กำหนดหัวหน้ากลุ่มงาน/งาน ...สสจ.ร้อยเอ็ด
 
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด ศูนย์คอมพิวเตอร์ โทร. 0-4351-1754 ต่อ 123
The best view at 800x600 pixel 16 bit or better, support with IE 5.0 or later