[ หน้าหลัก ] | [ หน้าข่าวประชาสัมพันธ์ ] | [ ตั้งข่าวประชาสัมพันธ์ ]  

 

 
       

 


ตีแผ่...มิตรภาพบำบัดเปลี่ยนโรคเป็นพลัง (จากเสลภูมิ)
     
 


“กำลังใจสามารถเปลี่ยนโรคให้กลายเป็นพลังได้” เชื่อไหมว่าการสร้างเสริมพลังมิตรภาพที่มาจากกัลยาณมิตรรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นการได้กำลังใจจากคนในครอบครัว ผู้ดูแล ผู้ใกล้ชิดจะเป็นยาวิเศษที่ช่วยเยียวยาจิตใจผู้ป่วยได้เป็นอย่างดีหรือมิตรภาพบำบัดนั่นเอง

มิตรภาพบำบัดนั้นเป็นอย่างไร มิตรภาพบำบัดเป็นการเน้นการดำเนินงานที่ส่งเสริมให้เกิดการบริการด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ (Humanized Health Care) โดยมีผู้ป่วยและอาสาสมัครที่มีจิตอาสาเข้ามามีส่วนร่วมในการบริการในกิจกรรมต่างๆ เช่น การพบปะพูดคุย การแนะนำช่วยเหลือและเข้าเยี่ยมผู้ป่วยเรื้อรังทั้งในโรงพยาบาลและที่บ้านอย่างต่อเนื่อง การที่ผู้ป่วยได้พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ตรงซึ่งกันและกัน ทำให้เกิดการยอมรับและผ่อนคลายจากความเครียดที่เกิดขึ้น ตลอดจนได้กำลังใจจากเพื่อนมนุษย์ที่เข้าใจและพร้อมให้ความช่วยเหลือโดยไม่มีเงื่อนไข ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องให้การยกย่องเชิดชูการทำงานของจิตอาสาที่ทำด้วยหัวใจ เพราะผู้ป่วยไม่ได้ต้องการแค่การตรวจรักษาหรือการรับยากลับไปรับประทานที่บ้านเพียงเท่านั้น แต่สิ่งที่พวกเขาต้องการมากกว่านั้นคือกำลังใจ ที่จะเป็นพลังต่อสู้กับโรคได้ การพัฒนาจิตใจให้เป็นผู้ให้ เป็นผู้มีจิตอาสา ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นใคร ถ้าให้ด้วยความรัก ความเมตตา มีจิตใจให้ผู้รับ มีความสุข มีคุณค่า มีศักดิ์ศรี ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะให้เท่าเทียมกันหมด

ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ตระหนักในความสำคัญของการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง จึงได้ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานกิจกรรมมิตรภาพบำบัดจิตอาสา ร่วมกับมูลนิธิมิตรภาพบำบัด ได้จัดงานมหกรรมคนไทยไม่ทอดทิ้งกัน “รวมพลังพื้นที่รวมพลังคนจิตอาสาสร้างหลักประกันสุขภาพที่ยั่งยืน” พร้อมมอบรางวัลประกวดจิตอาสามิตรภาพบำบัดดีเด่นประจำปี 2554 – 2555 ซึ่งได้จัดงานขึ้นในวันที่ 27 ก.พ. 2556 ณ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ กทม. โดยในงานมีการมอบรางวัลผู้มีผลงานด้านมิตรภาพและจิตอาสาดีเด่น มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อส่งเสริมดำเนินกิจกรรมให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิต เอื้ออาทรต่อกันทั้งในครอบครัวและสังคม ส่งเสริม เชิดชูเครือข่ายองค์กร อาสาสมัคร จิตอาสาที่ทำงานมิตรภาพบำบัด สนับสนุนกิจกรรมเพื่อสาธารณะ รวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับงานมิตรภาพบำบัดและเผยแพร่สู่การรับรู้ในสังคม ส่งเสริมฝึกอบรมให้เกิดผู้มีความรู้ความชำนาญ ในการบริหารจัดการเพื่อสร้างทีมงานมิตรภาพบำบัดบนฐานความรู้ทั้งในและต่างประเทศ และสนับสนุนทุนรางวัลแก่ผู้ดำเนินงานมิตรภาพบำบัดดีเด่นหรือบุคคลผู้มีจิตอาสาดีเด่น

สำหรับการจัดประกวดครั้งนี้ เป็นการสรรหาบุคคลหรือองค์กรที่มีผลงานด้านมิตรภาพและจิตอาสาดีเด่นในพื้นที่ อีกทั้งเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจแก่บุคคลและองค์กรที่ปฏิบัติงานจิตอาสาด้านมิตรภาพบำบัด

รางวัลมูลนิธิมิตรภาพบำบัด มีทั้งหมด ๗ รางวัล แบ่งเป็น ๔ ประเภท ดังนี้

ประเภทที่ ๑ ผู้ป่วย/ทีมอาสาสมัครมิตรภาพบำบัดดีเด่น ได้แก่

๑.นายสมพร ถมหนวด จังหวัดร้อยเอ็ด ผู้ป่วยทุพพลภาพจากอุบัติเหตุ เข้าร่วมเป็นอาสาสมัครมูลนิธิเมาไม่ขับให้คำปรึกษาและแนะนำทักษะการดำรงชีวิตของคนพิการ และรณรงค์ลดอุบัติเหตุ
๒.นายคำอ้าย สุนันต๊ะ จ.เชียงราย เป็นอาสาสมัครชมรมผู้พิการในท้องถิ่น
ประเภทที่ ๒ เจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการงานมิตรภาพบำบัดดีเด่น
๑.นางกันยารัตน์ มาเกตุ พยาบาล รพ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก ผู้ผลักดันมิตรภาพบำบัดใน รพ.และชุมชน
๒.พญ.รุจิรา มังคละศิริ จ.นครราชสีมา ผู้เปลี่ยนโรคมะเร็งเป็นพลังในการช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งด้วยกัน
ประเภทที่ ๓ หน่วยงาน/องค์กรสนับสนุนงานมิตรภาพบำบัด
๑.วัดโพธิ์ชัยศรี จ.บึงกาฬ พัฒนาวัดเป็นสถานีสาธารณะต้นแบบการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมของชุมชน
๒.รพ.ศรีสมเด็จ จ.ร้อยเอ็ด สร้างเครือข่ายจิตอาสามิตรภาพบำบัดดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง
ประเภทที่ ๔ สื่อสนับสนุนงานมิตรภาพบำบัดดีเด่น ได้แก่ เครือข่ายพุทธิกา ที่สร้างความรู้ความเข้าใจพุทธศาสนาและงานจิตอาสาให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง

โอกาสนี้ ขอแสดงความยินดีและเชิดชูเกียรติอาสาสมัครมิตรภาพบำบัดดีเด่น ซึ่งยังเคยผ่านการเป็นผู้ป่วยเองนั่นคือ “คุณสมพร ถมหนวด” หรือพี่เล็ก ผู้ป่วยทุพพลภาพครึ่งท่อนล่าง เป็นต้นแบบและเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้พิการด้วยกันในการลุกขึ้นมาต่อสู้ เรียนรู้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างสมศักดิ์ศรีและภาคภูมิใจ ก่อนที่พี่เล็กจะประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์เมื่อปี 2537 ได้ทำงานอย่างหนักจนสภาพร่างกายรับไม่ไหว ทำให้ประสบอุบัติเหตุระหว่างที่ขับรถยนต์เนื่องจากหลับใน หลังเกิดเหตุพี่เล็กป่วยทุพพลภาพครึ่งท่อนล่าง ลำตัวและขาอ่อนแรงไม่สามารถเดินได้ เมื่อไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้เลยต้องนอนอยู่บนเตียงตลอดเวลา เป็นเวลากว่า 3 ปี ที่พี่เล็กนอนอยู่กับบ้าน หมดกำลังใจ รู้สึกท้อแท้สิ้นหวัง เครียด จากที่เคยทำงานล้นมือกลับต้องมานอนติดเตียง เคยมีรายได้จากการประกอบอาชีพต้องรอรับเบี้ยคนพิการ ทำให้เกิดโรคทางด้านจิตใจ คิดว่าไม่อยากมีชีวิตต่อไปอีกแล้ว อยู่ก็เป็นภาระของคนอื่น จนกระทั่งวันหนึ่งเกิดจุดเปลี่ยน พี่เล็กอยากไปงานแต่งงานของน้องสาว แต่มีคำพูดอยู่คำหนึ่งว่า”อย่าไปเลย ไปก็เกะกะ” จึงทำให้คิดว่าต้องทำอะไรสักอย่าง ต้องลุกขึ้นมาสู้ และต้องทำให้ได้ จึงเริ่มต่อสู้กับอุปสรรคที่เป็นอยู่ เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านร่างกาย ฝึกการใช้รถเข็น การช่วยเหลือตัวเองในชีวิตประจำวันประกอบกับได้เข้าไปอยู่ที่ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานบางพูน และเป็นนักกีฬาทีมชาติเฟสปิกเกมส์ จนปัจจุบันพี่เล็กสามารถดูแลช่วยเหลือตัวเองได้ ไม่เป็นภาระกับคนอื่น สามารถเดินทางไปได้ทุกที่ที่ต้องการด้วยรถยนต์และจักรยานยนต์ นอกจากตัวเองจะกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างอิสระแล้ว พี่เล็กยังเข้าใจความรู้สึกของผู้ป่วยเรื้อรังและคนพิการเป็นอย่างดี จึงได้เข้ามาทำงานด้านจิตอาสากับองค์กรคนพิการ ศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ (Center for Independent Living) ส่วนการทำงานงานด้านจิตอาสากับทางโรงพยาบาลเสลภูมิ เริ่มเมื่อปี 2552 และทำงานอย่างจริงจังในปี 2553 การลงพื้นที่แต่ละครั้งนอกเหนือจากการให้กำลังใจกับผู้พิการด้วยกันเองแล้ว ยังทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือ ให้คำปรึกษาฉันเพื่อน พิทักษ์สิทธิคนพิการ แนะนำทักษะการดำรงชีวิตกับคนพิการที่จำเป็น จัดการดำเนินงานเพื่อช่วยเหลือคนพิการที่รุนแรง ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในการใช้ชีวิตประจำวัน ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสมรรถภาพในตัวเอง เกิดความภูมิใจในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของตนเอง

“การทำงานในแต่ละงาน หรือการลงพื้นที่ในแต่ละครั้งผมอาศัยมองจากตนเองก่อน เอาชีวิตจริงของตนเองมาช่วยในการทำงาน ให้เขาเห็นว่าเขาไม่ได้พิการคนเดียว ผมก็พิการ ก็ยังสู้ ยังทำได้ ทำให้เห็นว่าเขาไม่ได้โดดเดี่ยว ซึ่งต้องให้กำลังใจเขา คนพิการที่จะฟื้นฟูได้ใจต้องฟื้นก่อน ถ้าใจยังท้อแท้มันก็ฝึกอะไรยาก จากคนเดินได้กลายเป็นคนพิการ เหมือนโดนหักแข้งหักขา ต้องปรับอะไรเยอะมาก และต้องทำทุกอย่างด้วยหัวใจ โดยเฉพาะหัวใจที่ไม่รังเกียจ ไม่มีใครอยากเป็นคนพิการ แต่เมื่อมันพิการไปแล้วใจต้องไม่พิการตาม เราสามารถคิดและตัดสินใจเอง ลงมือทำได้เอง ไม่ต้องให้ผู้อื่นมาคิดแทนเรา เพราะจะทำให้เราเสียโอกาสที่จะทำในสิ่งที่อยากทำ ไม่ต้องถูกกำจัดสิทธิ์”

บางครั้งการรักษาฟื้นฟูทางการแพทย์ก็ไม่สามารถบำบัดโรคทางกายได้ แต่สามารถรักษาได้ด้วยใจ ต้องคอยเสริมสร้างพลังใจซึ่งกันและกัน มีมิตรภาพให้กับคนรอบข้าง จะช่วยเติมเต็มการทำงาน มองข้ามความพิการ ให้มองที่หัวใจของความเป็นมนุษย์จะทำให้สังคมน่าอยู่มากขึ้น.
//////////////////////////////
ข้อมูลโดย...สำนักประชาสัมพันธ์ โรงพยาบาลเสลภูมิ



สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด
๑๑ มีนาคม ๒๕๕๖



พิมลสิริ มณีฉาย /รายงาน
สุขสันต์ อินทรวิเชียร /หัวหน้าฝ่ายสุขศึกษาและประชาสัมพันธ์

 
     
      By : ประชาสัมพันธ์  Mail to ประชาสัมพันธ์    (1.4.151.*)  10/03/2013 01:13 PM  
 
 

 
กำหนดหัวหน้ากลุ่มงาน/งาน ...สสจ.ร้อยเอ็ด
 
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด ศูนย์คอมพิวเตอร์ โทร. 0-4351-1754 ต่อ 123
The best view at 800x600 pixel 16 bit or better, support with IE 5.0 or later