[ หน้าหลัก ] | [ หน้าข่าวประชาสัมพันธ์ ] | [ ตั้งข่าวประชาสัมพันธ์ ]  

 

 
       

 


สธ.ร้อยเอ็ด เตือนระวัง ! การระบาดของโรคไข้เลือดออก ปีนี้มาแรง
     
 

สธ.ร้อยเอ็ด เตือนระวัง ! การระบาดของโรคไข้เลือดออก ปีนี้มาแรง

นายแพทย์บุญมี โพธิ์สนาม นายแพทย์เชี่ยวชาญ(ด้านเวชกรรมป้องกัน)รองนายแพทย์สาธารณสุข เปิดเผยว่า สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปี ๒๕๕๖ ของประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม – ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ พบผู้ป่วยไข้เลือดออก ๕,๗๓๙ ราย ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึง ๕.๔ เท่า มีผู้เสียชีวิต ๔ ราย การพบผู้ป่วยไข้เลือดออกในขณะที่ยังอยู่ในช่วงฤดูหนาว เป็นสัญญาณเตือนว่าแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิตอาจสูงขึ้น ทางด้านศูนย์ระบาดวิทยา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด ก็ได้รายงานสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในภาพรวมของจังหวัดร้อยเอ็ดในช่วงระหว่างวันที่ ๑ มกราคม ถึงวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ พบผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือด จำนวน ๑๐๒ ราย คิดเป็นอัตราป่วย ๗.๘๒ ต่อแสนประชากร ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาเกือบ ๖ เท่า แต่ไม่พบผู้เสียชีวิต

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นห่วงสถานการณ์โรคไข้เลือดออกมาก ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้น จึงได้เตือนระวังการระบาดของโรคไข้เลือดออก โดยสั่งการไปยังสถานบริการสาธารณสุขทุกแห่ง เร่งเฝ้าระวัง ควบคุม ป้องกันโรค ให้ดำเนินการป้องกันควบคุมการระบาดของโรคไข้เลือดออกและติดตามประเมินผลการดำเนินงานของพื้นที่ทุกสัปดาห์ เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยให้เหลือน้อยที่สุด เร่งตัดกำลังยุงลายก่อนถึงฤดูกาลระบาดของโรคไข้เลือดออกคือในช่วงฤดูฝนประมาณพฤษภาคม-สิงหาคม โดยให้เร่งสำรวจและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในบ้านและชุมชน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม เพื่อลดการป่วย โดยเฉพาะในโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็ก ต้องไม่พบลูกน้ำยุงลายในภาชนะเก็บน้ำทุกชนิด เพราะหากมียุงลายแม้เพียงตัวเดียวก็อาจทำให้เกิดการระบาดได้ หากพบผู้ป่วยไข้เลือดออกควรให้การดูแลอย่างดีที่สุด ผู้ป่วยไข้เลือดออก จะมีอาการรุนแรงที่สุด ในวันที่ไข้เริ่มลดลง ต่างจากโรคติดเชื้ออื่นๆที่ผู้ป่วยมักมีอาการดีขึ้นในวันที่ไข้ลดลง และผู้ป่วยทุกกลุ่มอายุที่มีไข้ให้นึกถึงโรคไข้เลือดออกด้วย เนื่องจากโรคนี้มีแนวโน้มพบมากขึ้น ในกลุ่มเด็กโต ผู้ใหญ่และผู้มีน้ำหนักตัวมาก ที่สำคัญคือผู้ป่วยร้อยละ ๙๐ จะไม่มีอาการแสดง จะมีเพียงไข้ต่ำๆ ไม่มีจุดเลือดออกตามผิวหนัง ทำให้ยากต่อการวินิจฉัยโรค อาจเกิดอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้

นายแพทย์บุญมี กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากโรคไข้เลือดออกยังไม่มีวัคซีนป้องกัน สิ่งที่ประชาชนจะสามารถป้องกันได้ คือ ช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง เพราะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาไข้เลือดออกระบาด และร่วมกันกำจัดลูกน้ำยุงลาย ที่อยู่ในภาชนะเก็บน้ำภายในบ้าน ก่อนที่จะกลายเป็นตัวยุงเต็มวัยทุกอาทิตย์ โดยปิดฝาภาชนะให้สนิท หากเป็นภาชนะที่ไม่มีฝาปิด เช่น แจกันไม้ประดับ จานรองขาตู้กับข้าว ให้เติมน้ำส้มสายชู ๒ ช้อนโต๊ะ และขัดล้างภาชนะก่อนเปลี่ยนน้ำใหม่ทุกสัปดาห์เพื่อกำจัดไข่ยุงที่เกาะอยู่ภายในภาชนะ เพราะยุงลายตัวเมีย ๑ ตัว หลังผสมพันธุ์จะตั้งท้องและวางไข่ได้ตลอดชีวิตครั้งละประมาณ ๑๐๐ ฟอง มีชีวิตอยู่ประมาณ ๑ เดือน ไข่ยุงทนต่อสภาพความแห้งแล้งได้นานหลายเดือน เมื่อไข่ถูกน้ำท่วมถึงจะฟักตัวกลายเป็นลูกน้ำอย่างรวดเร็วภายในเวลา ๒๐–๖๐ นาที.



สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด
๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖


พิมลสิริ มณีฉาย ภาพ/ข่าว
สุขสันต์ อินทรวิเชียร /หัวหน้าฝ่ายสุขศึกษาและประชาสัมพันธ์

 
     
      By : ประชาสัมพันธ์  Mail to ประชาสัมพันธ์    (192.168.11.*)  13/02/2013 01:13 PM  
 
 

 
กำหนดหัวหน้ากลุ่มงาน/งาน ...สสจ.ร้อยเอ็ด
 
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด ศูนย์คอมพิวเตอร์ โทร. 0-4351-1754 ต่อ 123
The best view at 800x600 pixel 16 bit or better, support with IE 5.0 or later