นายแพทย์สุระ วิเศษศักดิ์ เปิดเผยว่า สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ ๖ ขอนแก่น เตือนประชาชน ๙ จังหวัดภาคอีสานตอนบน ได้แก่ เลย หนองบัวลำภู หนองคาย มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ อุดรธานี บึงกาฬและขอนแก่น ระวังโรคคอตีบ หลังพบการกลับมาระบาดอีกครั้งในรอบ ๑๐ ปี ยันรักษาได้
เมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ ณ ห้องประดับแก้ว โรงแรมเพชรรัชต์การ์เด้น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด โดยฝ่ายระบาดวิทยา ร่วมกับ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ ๖ จังหวัดขอนแก่น ได้จัดการประชุมเตรียมความพร้อมในการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมการระบาดของโรคคอตีบ จังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อรองรับสถานการณ์โรคคอตีบ ซึ่งมีการระบาดในหลายพื้นที่ของภาคอีสาน โดยเฉพาะ ๙ จังหวัดภาคอีสานตอนบน เพื่อหาแนวทางร่วมกันในการเฝ้าระวังการระบาดของโรคคอตีบในจังหวัดร้อยเอ็ด โดยมีนายแพทย์บุญมี โพธิ์สนาม นายแพทย์เชี่ยวชาญ(ด้านเวชกรรมป้องกัน) เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุม
วิทยากร แพทย์หญิงศศิธร ตั้งสวัสดิ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ ๖ จังหวัดขอนแก่น และคณะ
ผู้เข้าประชุม ประกอบด้วย ผู้รับผิดชอบงานระบาดวิทยาและ พยาบาลปฏิบัติงานในแผนกผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลทุกแห่ง /ทีมSRRT ระดับอำเภอและระดับตำบล ทุกอำเภอ รวมทั้งสิ้น ๑๐๐ คน
นายแพทย์บุญมี กล่าวถึง สถานการณ์โรคคอตีบประเทศไทยตั้งแต่ ๑ มิถุนายน-๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๕ พบว่ามีผู้ป่วยโรคคอตีบ จำนวน ๘๗ ราย จาก ๑๕ จังหวัด เสียชีวิต ๒ ราย พบการระบาดสูงสุดที่จังหวัดเลย ซึ่งสถานการณ์มีแนวโน้มจะมีการแพร่ระบาดไปยังจังหวัดใกล้เคียง หากไม่มีการป้องกันควบคุมโรคอย่างเข้มแข็งเพียงพอ โดยเฉพาะผู้ป่วยในกลุ่มผู้ใหญ่ที่อาจไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน ซึ่งจะใช้ ๓ มาตรการที่สำคัญในการควบคุมการระบาดโรคคอตีบ ได้แก่
๑.ควบคุมการระบาดอย่างรวดเร็ว โดยการค้นหาผู้ป่วยในชุมชน หากพบให้ดำเนินการสอบสวนโรคทันที ดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดรวมถึงการตัดวงจรการแพร่เชื้อโรค โดยการสำรวจผู้สัมผัสใกล้ชิดและพาหะนำโรค ดำเนินการเฝ้าระวังเพื่อป้องกันการเกิดโรค
๒.สร้างภูมิคุ้มกันโรคให้เข้มแข็ง โดยการเร่งรัดการให้วัคซีนให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย ทั้งกลุ่มเด็กและกลุ่มเสี่ยงต่างๆในพื้นที่ รวมถึงผู้ใหญ่ที่คาดว่าจะไม่มีภูมิคุ้มกันต่อโรคคอตีบ
๓.เน้นสร้างความร่วมมืออย่างเข้มแข็งในทุกภาคส่วน โดยการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการป้องกันโรคคอตีบให้กับเจ้าหน้าที่และประชาชนอย่างทั่วถึง
ทั้งนี้ จังหวัดร้อยเอ็ด ก็จะได้นำเอา ๓ มาตรการดังกล่าว เป็นแนวทางในการเฝ้าระวังการระบาดของโรคคอตีบในจังหวัดต่อไป.
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด
๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๕
พิมลสิริ มณีฉาย /ข่าว |