สธ.ร้อยเอ็ด เข้ม ! เพิ่มประสิทธิภาพศูนย์พึ่งได้ในโรงพยาบาล
วันนี้(๑๑ ต.ค.๕๕)เวลา ๐๙.๐๐ น.ณ ห้องแก้วมุกดา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด นางอาภารดี โคเวียง นักวิชาการสาธารณสุขเชี่ยวชาญ(ด้านบริการทางวิชาการ)เป็นประธานเปิดการประชุมคณะทำงานศูนย์พึ่งได้ จังหวัดร้อยเอ็ด ประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๖ มีนางอัมรา ธำรงทรัพย์ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานส่งเสริมสุขภาพ เป็นผู้กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์ของการจัดการประชุมว่า เพื่อซักซ้อมความรู้ ความเข้าใจ รับทราบบทบาทหน้าที่ ระบบขั้นตอนการทำงาน การรายงานข้อมูลการช่วยเหลือเด็กและสตรีที่ถูกกระทำรุนแรง ตลอดจนการประสานหน่วยงานภายนอกร่วมให้การช่วยเหลือ เด็กและสตรีที่ถูกกระทำรุนแรง ให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติต่อไป
นางอาภารดี กล่าวว่า จังหวัดร้อยเอ็ด ได้จัดบริการศูนย์พึ่งได้ (OSCC : One Stop Crisis Center) เพื่อเป็นศูนย์ให้บริการช่วยเหลือแบบครบวงจรให้แก่เด็กและสตรีที่ถูกกระทำรุนแรงทางกายและจิตใจ ซึ่งได้ดำเนินงานมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๕ จนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลา ๑๐ ปี ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดให้โรงพยาบาลทุกแห่งจัดตั้งศูนย์พึ่งได้ขึ้นตามมติ ครม. เมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๔๒ เห็นชอบให้มีการจัดบริการช่วยเหลือเด็กและสตรีในภาวะวิกฤติจากความรุนแรงขึ้นในโรงพยาบาลทุกแห่ง เพื่อเป็นศูนย์รับแจ้งเหตุกรณีเด็กและสตรีถูกทำร้าย และเป็นศูนย์กลางการติดต่อประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งให้การบริการช่วยเหลือเด็กและสตรีในภาวะวิกฤติจากความรุนแรงแบบครบวงจร โดยมีทีมสหวิชาชีพให้ความช่วยเหลือผู้ถูกกระทำรุนแรง เพราะจะเห็นว่าส่วนใหญ่แล้วโรงพยาบาลก็จะเป็นที่พึ่งแรกของเด็กและสตรีที่ถูกทำร้ายหรือถูกกระทำรุนแรง เพื่อเข้ารับการรักษาอาการบาดเจ็บ และในปัจจุบันพบว่ามีผู้เข้ารับบริการในโรงพยาบาลเพิ่มมากขึ้น ความซับซ้อนในการช่วยเหลือก็จะเพิ่มมากขึ้นด้วย
ในปี ๒๕๕๖ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด จึงได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานของศูนย์พึ่งได้(OSCC) โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด จะเป็นผู้ติดตามกำกับประเมินผลการดำเนินงานศูนย์พึ่งได้ เดือนละ ๑ ครั้ง เพื่อรับทราบปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะ.
พิมลสิริ มณีฉาย ภาพ/ข่าว
|