๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๕ เวลา ๐๙.๓๐ น. นายแพทย์สุระ วิเศษศักดิ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นประธานเปิดโครงการพัฒนามาตรฐานงานสุขศึกษา พัฒนาระบบเฝ้าระวังและเตือนภัยพฤติกรรมสุขภาพ ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมธนินทร กรีน ปาร์ค จังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อให้สถานบริการสาธารณสุขทุกแห่งในจังหวัด มีระบบเฝ้าระวังพฤติกรรมเสี่ยงโรคเรื้อรัง นำร่อง ในกลุ่มป่วย และกลุ่มเสี่ยง โรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง สำรวจ ๒ พฤติกรรม คือ การกินอาหาร ผัก ผลไม้ เพียงพอหรือไม่ กินหวาน มัน เค็ม มากไปหรือไม่ และการออกกำลังกาย เพียงพอหรือไม่ นำเข้ามูลเข้าสู่ระบบ วิเคราะห์ คืนข้อมูลสู่ชุมชนและกลุ่มเป้าหมาย ว่ามีพฤติกรรมเสี่ยงใด จะปฏิบัติตัวอย่างไร จึงจะไม่ป่วย เน้นรูปแบบที่ง่าย นำไปใช้ในวิถีชีวิตประจำวันของตนเอง ๑-๓ เดือน ภาวะเสี่ยงจะลดลงได้หากตั้งใจทำสม่ำเสมอ โดยมีนางพิศมัย สุขอมรรัตน์ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ กองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เป็นผู้บรรยายให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่รับผิดชอบกว่า ๓๐๐ คน
นางสุขสันต์ อินทรวิเชียร นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ เปิดเผยว่า ภาวะเสี่ยงโรคเรื้อรัง จากการคัดกรองสุขภาพในปีนี้ล่าสุด พบว่ากลุ่มอายุ ๓๕ ปีขึ้นไป เสี่ยงต่อเกิดโรคความดันโลหิตสูงมาเป็นอันดับ ๑ ถึงร้อยละ ๖๓.๙๘ รองลงมาคือ โรคเบาหวาน ร้อยละ ๔๓.๕๑ โรคหัวใจและหลอดเลือด ร้อยละ ๓๓.๔๖ พบภาวะอ้วน ร้อยละ ๑๗.๘๐ คนกลุ่มนี้จะสามารถลดภาวะเสี่ยงที่จะเป็นผู้ป่วยมาเป็นคนปกติได้ด้วยการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการกินและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งสามารถบอกได้ด้วยเครื่องมือเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพ ที่จะเตือนว่าอยู่ในภาวะเสี่ยงระดับใด เช่น เสี่ยงสูง(สีแดง) เสี่ยงปานกลาง(สีเหลือง) และเสี่ยงน้อย(สีเขียว) จากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการเรียนรู้เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ระบบฐานข้อมูลเฝ้าระวังและเตือนภัยพฤติกรรมสุขภาพจะเป็นประโยชน์ทั้งผู้ปฏิบัติงาน และประชาชน เพื่อร่วมมือกันป้องกันการเจ็บป่วยที่จะเกิดขึ้น ทั้งยังสามารถเตือนภัยถึงแนวโน้มของพฤติกรรมอันตรายที่จะก่อให้เกิดโรคได้ด้วย.
พิมลสิริ มณีฉาย ภาพ/ข่าว
|