นายแพทย์สุระ วิเศษศักดิ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด เปิดเผยว่า กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้แจ้งสถานการณ์เอดส์ในประเทศไทย ปัจจุบันพบว่า มีผู้ติดเชื้อเอดส์ที่ยังมีชีวิตประมาณ ๕ แสนราย แต่มีเพียง ๒.๕ แสนรายเท่านั้น ที่เข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข ในขณะที่อีก ๒.๕ แสนราย ยังไม่เข้าสู่ระบบการรักษา หลายกลุ่มคน ได้แก่ ๑) กลุ่มคนที่ไม่ทราบว่าตัวเองมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เอช ไอ วี (HIV) ๒) กลุ่มคนที่ประเมินได้ว่าตัวเองมีความเสี่ยง แต่ยังไม่ตัดสินใจไปรับบริการปรึกษาและตรวจเลือดที่หน่วยบริการ และ๓) กลุ่มคนที่อาจจะทราบผลเลือดของตัวเองแล้ว แต่ไม่มีข้อมูลเรื่องการดูแลรักษา ดังนั้น จึงได้มีศูนย์ ๑๖๖๓ สายด่วนปรึกษาเอดส์ เพื่อช่วยให้ประชาชนทั้ง ๓ กลุ่ม ได้มีทางออกในการจัดการปัญหาและวางแผนดูแลสุขภาพของตัวเองได้ ไม่ว่าจะติดเชื้อ เอช ไอ วี (HIV) หรือไม่ก็ตาม
ศูนย์ ๑๖๖๓ สายด่วนปรึกษาเอดส์ เกิดจากแนวคิดและความร่วมมือกันระหว่าง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ศูนย์วิจัยโรคเอดส์สภากาชาดไทย มูลนิธิเข้าถึงเอดส์และผู้ที่ทำงานด้านเอดส์ เพื่อพัฒนาระบบบริการปรึกษาและการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยโรคเอดส์ของประเทศไทย ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และเป็นอีกช่องทางที่จะช่วยการควบคุมป้องกันโรคเอดส์ให้ได้ผลดียิ่งขึ้น เปิดให้บริการทุกวันตั้งแต่เวลา ๑๐.๐๐ ๒๐.๐๐ น. หากโทรนอกเวลาจะมีระบบบันทึกอัตโนมัติและเจ้าหน้าที่จะโทรกลับทุกราย เป็นบริการไม่ถามชื่อ จะบันทึกเป็นรหัสผู้รับบริการแต่ละราย ผู้รับบริการจะได้รับทราบข้อมูลและได้รับการปรึกษาในเบื้องต้น ช่วยให้มีความเข้าใจและมีข้อมูลเพียงพอที่จะตัดสินใจเข้ารับบริการปรึกษาและตรวจหาเชื้อเอชไอวีมากขึ้น ที่สำคัญ การที่มีศูนย์ ๑๖๖๓ สายด่วนปรึกษาเอดส์ จะช่วยให้คลี่คลายสถานการณ์ปัญหาเรื่องเอดส์ เพราะเมื่อประชาชนเข้าถึงบริการปรึกษาและได้รับการรักษาเร็ว จะเป็นการป้องกันและลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ ผู้ติดเชื้อไม่เจ็บป่วย และไม่เสียชีวิต
กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายเร่งรัดการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ เพื่อบรรลุเป้าหมายที่เป็นศูนย์(Thai Getting to Zero : ไทย เก็ตติ้ง ทู ซีโร่) คือ ลดการติดเชื้อรายใหม่ ลดอัตราการเสียชีวิตจากเอดส์ ลดการเลือกปฏิบัติและตีตรา จึงได้กำหนดให้เดือนกรกฎาคมของทุกปี เป็นเดือนรณรงค์ตรวจเอชไอวี ให้เป็นมาตรการเพื่อสร้างความตระหนัก และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เห็นความสำคัญของการเข้าถึงข้อมูลและประโยชน์ต่างๆของการรับการปรึกษาและตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีด้วยความสมัครใจ.
พิมลสิริ มณีฉาย ภาพ/ข่าว
|