สธ.ร้อยเอ็ด ร่วมพิธีวางพวงมาลาถวายราชสักการะสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
วันนี้(๑๑ ก.ค.๕๕) เวลา ๐๘.๓๐ น. นายแพทย์บุญมี โพธิ์สนาม นายแพทย์เชี่ยวชาญ(ด้านเวชกรรมป้องกัน) นำคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ในสังกัดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด ร่วมพิธีวางพวงมาลาถวายราชสักการะ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ณ บริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัดร้อยเอ็ด ร่วมกับส่วนราชการจังหวัดร้อยเอ็ดทุกหมู่เหล่า ตลอดจนพ่อค้า ประชาชน นักเรียน นักศึกษา โดยมีนายวันชาติ วงษ์ชัยชนะ ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นประธานในพิธีและนำกล่าวคำสดุดีเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
ด้วยปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์เป็นที่แน่ชัดว่า วันอาทิตย์ที่ ๑๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๓๓๑ เป็นวันสวรรคตของ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช นับถึงปัจจุบันเป็นปีที่ ๓๒๓ โดยที่พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแก่ประเทศชาติบ้านเมือง อย่างกว้างใหญ่ไพศาล จึงขอนำพระราชประวัติโดยสังเขปและพระราชกรณีกิจบางประการ มากล่าวสดุดีเฉลิมพระเกียรติเป็นกตเวทิตา ณ โอกาสนี้
สมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีหลายพระนาม คือ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๓ หรือ สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสรรเพชญ์ เป็นพระราชโอรสของ พระเจ้าปราสาททอง พระมหากษัตริย์ผู้ครองกรุงศรีอยุธยา กับพระราชธิดาของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ทรงพระราชสมภพเมื่อวันจันทร์ เดือนยี่ ปี พ.ศ. ๒๑๗๕ ส่วนเหตุที่มีพระนามว่า "นารายณ์" มีที่มาน่าสนใจคือ ( มีอ้างในพงศาวดาร ) มีพระญาติวงศ์เหลือบเห็นเป็น ๔ กร สมเด็จพระเจ้าประสาททองตรัสแจ้งความเป็นอัศจรรย์ แล้วก็พระราชทานนามว่า "พระนารายณ์ราชกุมาร" พระองค์ทรงปราบดาภิเษกเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติเมื่อ พ.ศ.๒๑๙๙ ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๒๐๕ เริ่มมีชาติตะวันตกเข้ามาเผยแพร่ศาสนา ชาติแรกที่เข้ามาคือ ฝรั่งเศส เป็นมิชชันนารี ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงมีประปรีชาสามารถมาก ทรงเล็งเห็นประโยชน์จากชาวต่างชาติจึงทรงเริ่มดำเนินการประสานสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส ทรงจัดคณะฑูตนำพระราชสาส์นไปเจริญสัมพันธ์ไมตรี ณ ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งตรงกับสมัย พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ของฝรั่งเศส พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ทรงตอบรับด้วยเล็งเห็นว่าจะชักชวนสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนับถือศาสนาคริสต์ตามพระองค์ ดังนั้นพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ จึงทรงให้ราชฑูตเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงศรีอยุธยาเมื่อปี พ.ศ. ๒๒๒๘ นอกจากนี้ พระองค์ทรงทำให้หัวหน้าราชฑูตของฝรั่งเศสเลื่อมใสในพระปรีชาสามารถของพระองค์เป็นอย่างมาก นอกจากพระราชกรณียกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการเมืองการปกครองแล้ว ก็ปรากฏว่าสมเด็จพระนารายณ์ทรงพระปรีชาญาณในศิลปวรรณคดีเป็นอย่างยิ่ง ได้ทรงพระราชนิพนธ์วรรณคดีไว้หลายเรื่อง เท่าที่ทราบกันต่อมาในบัดนี้ มีดังนี้
๑.พระราชนิพนธ์โคลง เรื่องทศรถสอนพระราม
๒.พระราชนิพนธ์โคลง เรื่องพาลีสอนน้อง
๓.พระราชนิพนธ์โคลง เรื่องราชสวัสดิ์
๔.สมุทรโฆษคำฉันท์ (ตอนกลาง)
๕.คำฉันท์กล่อมช้าง (ของเก่า)
๖.บทพระราชนิพนธ์โคลงโต้ตอบกับศรีปราชญ์และกวีมีชื่ออื่นๆ อีกมากมาย
พิมลสิริ มณีฉาย ภาพ/ข่าว
|