สาสุขร้อยเอ็ด แจ้งเตือนการระบาดและเฝ้าระวังโรคมือเท้าปาก
นายแพทย์ภาสกร ไชยเศรษฐ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคมือ เท้า ปาก ปี ๒๕๕๕ ของจังหวัดร้อยเอ็ด ข้อมูลระหว่างเดือนมกราคม มิถุนายน ๒๕๕๕ ขณะนี้พบว่า มีผู้ป่วยด้วยโรคมือ เท้า ปาก รวม ๑๐๑ ราย คิดเป็นอัตราป่วยต่อแสนประชากร ๗.๗๑ แต่ยังไม่มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคนี้ กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยสูงสุด คือ อายุ ๑ ๒ ปี (ร้อยละ ๕๒.๔๘ ) รองลงมา คือ อายุ ๓-๔ ปี (ร้อยละ ๓๒.๖๗) และอายุมากกว่า ๕ ปี (ร้อยละ ๑๑.๘๘) ส่วนใหญ่จะเกิดการระบาดในศูนย์เด็กเล็ก ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค คือ การเล่นคลุกคลีกับเด็กที่ป่วย การเล่นของเล่นร่วมกัน และการใช้แก้วน้ำและผ้าเช็ดมือร่วมกัน ๕ อำเภอที่พบผู้ป่วยสูงสุด ได้แก่ เกษตรวิสัย ๒๑ ราย เสลภูมิ ๑๓ ราย พนมไพร ๑๑ ราย โพนทอง ๑๐ ราย และธวัชบุรี ๙ ราย ตามลำดับ
นางสาวสุภาภรณ์ มิตรภานนท์ หัวหน้าศูนย์ระบาดวิทยา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวเกี่ยวกับโรคมือเท้าปากว่า เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า เอนเทอโรไวรัส ( Enterovirus) มีหลายชนิด ที่พบบ่อยคือไวรัสค็อคแซกกี่ เอ 16 (Coxsackie Viruses A 16 ) ซึ่งเป็นชนิดที่ไม่รุนแรง ป่วยประมาณ ๗-๑๐ วันจะหายเองได้ และชนิดรุนแรงทำให้เด็กเสียชีวิตได้ คือ ไวรัสเอนเทอโร 71 (Enterovirus 71) เชื้อชนิดนี้พบในประเทศไทยน้อยมาก ส่วนใหญ่จะพบระบาดในต่างประเทศ เช่น เวียดนาม อาการจะปรากฏหลังติดเชื้อประมาณ ๓-๖ วัน เริ่มจากมีไข้ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ต่อมาจะมีเจ็บปาก และเบื่ออาหารเนื่องจากมีแผลอักเสบที่ลิ้น เหงือกและกระพุ้งแก้ม ต่อมาจะเกิดผื่นแดง มักไม่คันขึ้นที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า และอาจพบที่ก้นหรือที่หัวเข่าได้ ผื่นจะกลายเป็นตุ่มพองใสรอบๆจะแดง และแตกออกเป็นหลุมตื้นๆ เชื้อโรคจะถูกขับออกมาทางอุจจาระของผู้ป่วย และติดต่อคนอื่นได้จากการกิน โดยเชื้อจะติดมากับมือ น้ำลาย น้ำมูก และน้ำในตุ่มพองหรือแผลของผู้ป่วย
การป้องกันโรคมือเท้าปาก ขอให้ผู้ปกครอง ผู้ดูแลเด็กในศูนย์เด็กเล็ก ให้เด็กหมั่นล้างมือด้วยสบู่หรือเจลล้างมือ ทุกครั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร หลังขับถ่ายและเล่นของเล่น ตัดเล็บให้สั้น เพื่อไม่ให้เชื้อโรคสะสมในเล็บ และทำความสะอาดมือได้ง่าย ดูแลรักษาความสะอาดอาคารสถานที่ อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้และของเล่นต่างๆเป็นประจำด้วยน้ำยาทำความสะอาดหรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค เด็กที่ป่วยเป็นโรคมือเท้าปากให้หยุดพักรักษาตัวที่บ้านประมาณ ๑ สัปดาห์ หรือจนกว่าจะหายเป็นปกติ เพื่อป้องกันแพร่เชื้อสู่เด็กอื่น หากมีเด็กป่วยหรือมีอาการสงสัยจะป่วยเป็นโรคมือเท้าปากในศูนย์เด็กเล็กหรือ ที่โรงเรียน ให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อควบคุมป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่กระจาย.
พิมลสิริ มณีฉาย ภาพ/ข่าว
|