สาสุขร้อยเอ็ด เข้ม ! รณรงค์เก็บให้เกลี้ยง ไม่เลี้ยงยุงลาย เนื่องในวันไข้เลือดออกอาเซียน
นายแพทย์ภาสกร ไชยเศรษฐ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด เปิดเผยว่า ด้วยกลุ่มประเทศอาเซียน ๑๐ ประเทศ ประกอบด้วย กัมพูชา บรูไนดารุสซาลาม มาเลเซีย ลาว พม่า ฟิลิปปินส์ เวียดนาม อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และไทย ได้มีมติร่วมกันในการแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออก ซึ่งเป็นปัญหาระดับภูมิภาค โดยกำหนดให้วันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๔ เป็นปีแรกของการรณรงค์ในภาพอาเซียน ภายใต้หัวข้อ ไข้เลือดออกเป็นความห่วงใยของทุกคน เป็นโรคที่ก่อให้เกิดภาระด้านเศรษฐกิจ สังคมกับชุมชน แต่สามารถป้องกันได้ ในประเทศไทย โรคไข้เลือดออกสามารถพบได้ทุกกลุ่มอายุ ที่พบมากคือวัยเด็ก กลุ่มอายุ ๑๐-๑๔ ปี และกลุ่มอายุ ๕-๙ ปี ตามลำดับ และมีแนวโน้มพบสูงขึ้นในกลุ่มอายุ ๑๕-๒๔ ปี และพบผู้ป่วยมากขึ้นในช่วงฤดูฝน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม และสูงสุดประมาณเดือนกรกฎาคม ถึงเดือนสิงหาคม โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับเครือข่ายการดำเนินงานภาคต่างๆ จัดกิจกรรม Big Cleaning Day เพื่อส่งเสริมเฝ้าระวังป้องกันโรคไข้เลือดออก ภายใต้หัวข้อ เก็บให้เกลี้ยง ไม่เลี้ยงยุงลาย
นายแพทย์ภาสกร กล่าวถึงสถานการณ์โรคไข้เลือดออกจังหวัดร้อยเอ็ด ข้อมูลระหว่างเดือนมกราคม พฤษภาคม ๒๕๕๕ พบว่า มีผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก รวม ๑๒๖ ราย คิดเป็นอัตราป่วยต่อแสนประชากร ๙.๖๒ แต่ยังไม่มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคนี้
ดังนั้น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด จึงได้แจ้งนโยบายกระทรวง โดยประสานไปยังสถานบริการสาธารณสุขในสังกัดทุกแห่ง ให้เฝ้าระวังโรคไข้เลือดออกในพื้นที่อย่างใกล้ชิด พร้อมเตรียมทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) ลงพื้นที่เพื่อควบคุมโรคภายใน ๒๔ ชั่วโมง และรณรงค์ให้ประชาชนปรับพฤติกรรมเพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออก ด้วยหลัก ๕ ป.ปราบยุงลาย (ปิด เปลี่ยน ปล่อย ปรับปรุง และปฏิบัติ) ป.ปิด คือ ปิดฝาภาชนะกักเก็บน้ำทุกชนิด ป.เปลี่ยน คือ เปลี่ยนน้ำทุกๆ ๗ วัน ป.ปล่อย คือ ปล่อยปลากินลูกน้ำในภาชนะกักเก็บน้ำ ป.ปรับปรุง คือ ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมเพื่อไม่ให้เป็นที่เพาะพันธุ์ของยุงลาย ป.ปฏิบัติ คือ ปฏิบัติตนเองจนเป็นนิสัย เน้นความร่วมมือในการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระยะที่เป็นลูกน้ำ ตัวโม่ง และตัวแก่เต็มวัย ทั้งนี้ หากประชาชนสามารถทำตามมาตรการดังกล่าวได้ ก็จะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกลงได้.
พิมลสิริ มณีฉาย ภาพ/ข่าว
|