|
เชิญผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้สูงอายุ บุคลากรทางการแพทย์ ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ฟรี !เริ่ม มิ.ย. ก.ย. ๕๕ นี้
นายแพทย์ภาสกร ไชยเศรษฐ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ดเปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ร่วมรณรงค์ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่แก่กลุ่มเป้าหมายในผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ๗ โรค ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย เบาหวาน และผู้ป่วยโรคมะเร็งที่อยู่ระหว่างการให้เคมีบำบัด และผู้สูงอายุที่อายุเกิน ๖๕ ปี ทุกคน รวมไปถึงบุคลากรทางการแพทย์กำหนดฉีดในช่วงเดือนมิถุนายน ถึง กันยายน ๒๕๕๕ ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงติดต่อขอฉีดได้ที่โรงพยาบาลรัฐใกล้บ้านฟรี!
วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ที่ฉีดให้เป็นวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ซึ่งจะพบผู้ป่วยจำนวนมากในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่มีร่างกายแข็งแรง ไม่มีโรคเรื้อรัง เมื่อเป็นโรคไข้หวัดใหญ่จะสามารถหายได้เอง แต่สำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เด็กเล็ก และผู้สูงอายุ อาจจะเกิดภาวะแทรกซ้อนต่อระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจ และระบบอื่นๆ ของร่างกายจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ข้อดีของการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ คือ ลดอาการป่วยและเสียชีวิต และช่วยลดโอกาสการแพร่กระจายเชื้อโรคไข้หวัดใหญ่ ระหว่างบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษา รวมทั้งลดโอกาสการกลายพันธุ์ของเชื้อไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ ๒๐๐๙ อีกด้วย
การฉีดวัคซีนจะมีประโยชน์ในการช่วยป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ และช่วยให้ผู้ป่วยโรคเรื้อรังมีภูมิคุ้มกันโรคไข้หวัดใหญ่ได้นานประมาณ ๑ ปี ซึ่งผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วอาจจะป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ได้ แต่จะมีอาการเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน แต่อย่างไรก็ตาม วัคซีนมีจำกัดจึงไม่สามารถฉีดให้ทุกคนได้ โดยในพื้นที่ ๔ จังหวัด ในเขตรับผิดชอบของ สปสช. เขต ๗ ขอนแก่น มีกลุ่มเป้าหมายที่จะต้องฉีดวัคซีนประมาณ ๒๗๒,๓๔๒ คน โดยแบ่งเป็น กาฬสินธุ์ ๕๙,๙๗๐ คน ขอนแก่น ๘๒,๔๘๐ คน มหาสารคาม ๕๗,๙๙๗ คน และ ร้อยเอ็ด ๗๑,๘๙๖ คน
สำหรับกลุ่มที่ห้ามฉีดวัคซีน ได้แก่ เด็กทารกอายุน้อยกว่า ๖ เดือน ผู้ที่แพ้ไข่และเนื้อไก่ หรือผู้ที่เคยแพ้วัคซีนไข้หวัดใหญ่มาก่อน ผู้ที่มีไข้ มีอาการเจ็บป่วยเฉียบพลัน หรือเพิ่งหายจากการรักษาตัวในโรงพยาบาล ซึ่งอาการข้างเคียงของวัคซีนที่อาจจะเกิดขึ้น คือ เป็นผื่นแดง บวม ปวด ตุ่มนูน มีไข้ รู้สึกไม่สบายตัว ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อและข้อ และอาการอื่นๆซึ่งมักจะเป็นในผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนนี้มาก่อน อาจเริ่มมีอาการภายใน ๖-๑๒ ชั่วโมง อาจเป็นนานประมาณ ๑-๒ วัน ซึ่งอาการนี้สามารถหายเองได้โดยไม่ต้องรับการรักษา ผู้สนใจสอบถามเพิ่มเติมติดต่อ โทรสายด่วน สปสช. ๑๓๓๐ ทุกวัน ตลอด ๒๔ ชั่วโมง.
พิมลสิริ มณีฉาย /ข่าว |
|
|