กว่าจะมาเป็น... สุดยอดหน่วยบริการแพทย์แผนไทย ระดับจังหวัดร้อยเอ็ด
เมื่อวันที่ ๗ ก.พ.๕๕ นายแพทย์ภาสกร ไชยเศรษฐ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด ได้เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลแก่ ๑๐ สุดยอดหน่วยบริการด้านการแพทย์แผนไทยจังหวัดร้อยเอ็ด ประจำปี ๒๕๕๔ ดังนี้
ชนะเลิศอันดับที่ ๑ ได้แก่ รพ.สต.บ้านนาเมือง อำเภอเสลภูมิ
รองชนะเลิศอันดับที่ ๑ ได้แก่ รพ.สต.บ้านยางเลิง ตำบลดอกไม้ อำเภอสุวรรณภูมิ
รองชนะเลิศอันดับที่ ๒ ได้แก่ รพ.สต.บ้านจาน อำเภอทุ่งเขาหลวง
รางวัลชมเชย จำนวน ๗ รางวัล ได้แก่ รพ.สต.เฉลิมพระเกียรติฯ สีแก้ว อ.เมือง /รพ.สต.หนองนาสร้าง อ.เมือง /รพ.สต.วารีสวัสดิ์ อ.พนมไพร /รพ.สต.ป่ายางชุม ต.ดอกไม้ อ.สุวรรณภูมิ /รพ.สต.บ้านแมต อ.เมือง /รพ.สต.หนองตาไก้ อ.โพธิ์ชัย และ รพ.สต.บึงนคร อ.ธวัชบุรี
มาวันนี้ จึงอยากย้อนเอาสิ่งดีๆ มาเล่าให้พี่น้องชาวสาสุขร้อยเอ็ด ได้รับทราบกันถึงความเป็นมาของงานแพทย์แผนไทยของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล บ้านนาเมือง ตำบลนาเมือง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ว่ากว่าจะมาเป็น... สุดยอดหน่วยบริการแพทย์แผนไทย ระดับจังหวัดร้อยเอ็ด นั้นทำอย่างไร?
ข้อมูลโดย...นายวิบูลย์ ทนงยิ่ง นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล บ้านนาเมือง ตำบลนาเมือง อำเภอเสลภูมิ (รพ.สต.นาเมือง)
ในปี ๒๕๔๕ สถานีอนามัยบ้านนาเมือง (ชื่อเดิม) ได้นำนโยบายการดำเนินงานแพทย์แผนไทยในสถานบริการมาใช้ โดยเริ่มต้นด้วยการ ส่ง อสม.ที่มีความสนใจงานแพทย์แผนไทย ไปอบรมหลักสูตรอาสาสมัครนวดแผนไทย ที่โรงพยาบาลเสลภูมิ ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขอำเภอเสลภูมิ จัดขึ้น โดยมี อสม.ที่สนใจไปอบรม จำนวน ๕ คน หลังจากนั้นก็เริ่มเปิดให้บริการนวดแผนไทย ที่สถานีอนามัยบ้านนาเมือง เปิดให้บริการทุกวัน-เวลาราชการ มีอาสาสมัครนวดแผนไทยหมุนเวียนมาให้บริการวันละ ๑ คน สถานที่ อาคารสถานีอนามัยหลังเดิม ที่ทำด้วยไม้ชั้นเดียว เป็นอาคารแพทย์แผนไทย ซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังของอาคารสถานีอนามัยหลังปัจจุบัน
ต่อมาในปี ๒๕๔๘ อาคารแพทย์แผนไทย ชำรุดทรุดโทรมมากเนื่องจากตัวอาคารสร้างมาตั้งแต่ปี ๒๕๒๐ จึงได้ทำการรื้อถอนอาคาร และย้ายการให้บริการด้านการแพทย์แผนไทย ไปที่ชั้น ๒ ของอาคารสถานีอนามัยหลังปัจจุบัน และมีการเปิดให้บริการ อบสมุนไพรเพิ่มขึ้น โดยใช้เป็นตู้อบไอน้ำ อบได้ครั้งละ ๑ ๔ คนเนื่องจากการให้บริการนวดแผนไทย อบสมุนไพร อยู่ชั้นบนอาคารทำให้ไม่สะดวกแก่ผู้มารับบริการและการให้บริการของเจ้าหน้าที่ด้วย คณะเจ้าหน้าที่จึงได้ปรึกษาหารือกันเตรียมย้ายงานแพทย์แผนไทยลงไปอยู่ด้านล่างอาคารร่วมกับงานบริการอื่นๆ โดยจะต้องมีการต่อเติมอาคารด้านหลังเพิ่ม โดยใช้งบบำรุง การจัดงานทำบุญเพื่อหาเงินต่อเติมอาคาร และงบไทยเข้มแข็ง รวมแล้วเป็นเงินจำนวนมากพอสมควร ในที่สุดเราก็ได้อาคารแพทย์แผนไทยที่เราคาดหวังไว้สมความตั้งใจ และเสร็จทันการประเมินมาตรฐานงานแพทย์แผนไทย ในช่วงเดือน กรกฎาคม ๒๕๕๔ พอดี
ข้อมูล รพ.สต.บ้านนาเมือง ตั้งอยู่หมู่ที่ ๖ บ้านนาเมือง ถนนสายเสลภูมิ-โพนทอง อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอเสลภูมิ และโรงพยาบาลเสลภูมิ ประมาณ ๔ กิโลเมตร รับผิดชอบ ๑๖ หมู่บ้าน และ ๑ นิคมเสลภูมิ ประชากร ๘,๓๕๔ คน หลังคาเรือน ๑,๗๒๖ หลังคา มีเจ้าหน้าที่ประจำ ๔ คน ลูกจ้างเงินบำรุง ๓ คน ลูกจ้างเงินบริจาค ๒ คน
การดำเนินงานแพทย์แผนไทย
ปัจจุบันมีอัตรากำลัง ๒ คน ตำแหน่งผู้ช่วยแพทย์แผนไทย ๑ คน และตำแหน่งอาสาสมัครนวดแผนไทย ๑ คน
งานแพทย์แผนไทยถือเป็นงานบริการอย่างหนึ่งที่สถานบริการสาธารณสุขทุกระดับต้องมี โดยเฉพาะระดับ รพ.สต. อย่างน้อยจะต้องมีการให้บริการ นวดแผนไทย และจะต้องจัดบริการให้ได้มาตรฐานตามเกณฑ์ที่กำหนดให้ และ สปสช.ก็สนับสนุนงบประมาณด้วย โดยงบประมาณที่สนับสนุนก็ได้ตามผลงานที่ รพ.สต.ทำได้ รพ.สต. บ้านนาเมือง ให้ความสำคัญกับงานแพทย์แผนไทย โดยช่วยกันทำด้วยใจรัก ว่าอย่างไรว่าตามกัน เริ่มตั้งแต่การสร้างอาคารแพทย์แผนไทยก็ช่วยกันออกแบบห้องแพทย์แผนไทย ห้องอบสมุนไพร ห้องเปลี่ยนเสื้อผ้า ห้องอาบน้ำ ตลอดจนห้องน้ำให้เป็นแบบไทยๆ เป็นที่ประทับใจแก่ผู้พบเห็นและผู้มารับบริการ
กิจกรรมการให้บริการ มีดังนี้
ให้บริการนวดแผนไทย มี ๒ เตียง ผู้รับผิดชอบ คือ ผู้ช่วยแพทย์แผนไทย ๑ คน และอาสาสมัครนวดแผนไทย อีก ๑ คน และมีบริการประคบสมุนไพร ให้บริการนวดฝ่าเท้า ให้บริการอบสมุนไพร มีห้องอบสมุนไพร ๑ ห้อง และตู้อบสมุนไพร ๑ ตู้ ให้บริการนวดแผนไทยเชิงรุก โดยออกนวดผู้ป่วยโรคเรื้อรังในชุมชน ส่งเสริมภูมิปัญญาหมอพื้นบ้าน โดยมีการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภูมิปัญญาหมอพื้นบ้านกับเครือข่ายแพทย์แผนไทย ทั้งในระดับหมู่บ้าน ตำบลและอำเภอ โดยในระดับอำเภอจะมีเครือข่ายหมอพื้นบ้าน แบ่งเป็นกลุ่มตามสาขาที่หมอพื้นบ้านให้การรักษาชาวบ้าน คือ
กลุ่มที่ ๑ หมอพื้นบ้านที่รักษาด้านไสยศาสตร์ หมอธรรม หมอสู่ขวัญ กะจ้ำ
กลุ่มที่ ๒ หมอยาสมุนไพร
กลุ่มที่ ๓ หมอพื้นบ้านที่รักษาด้วย การเป่า การใช้น้ำมัน น้ำมนต์ หมอรักษากระดูก
กลุ่มที่ ๔ หมอนวด หมอเส้น หมอเอ็น
ในแต่ละกลุ่มจะมีการคัดเลือกประธานและคณะทำงาน เพื่อเป็นเครือข่ายการทำงาน ทั้งนี้ ได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก CUP เสลภูมิ ทุ่งเขาหลวง และกองทุนหลักประกันสุขภาพเทศบาลตำบล นาเมือง ให้การสนับสนุนและส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ส่งเสริมให้ชาวบ้าน ปลูก ๑๐ ผักสามัญประจำบ้าน คือ ผักที่ปลูกง่าย ตายยากและชาวบ้านปลูกอยู่แล้ว มีการนำมาใช้ในการประกอบอาหารในแต่ละมื้อ ที่สำคัญผักทั้ง ๑๐ ชนิดจะมีคุณค่าทางยาด้วย ได้แก่ กระชาย กระเพรา ขิง ข่า ตะไคร้ แมงลัก โหระพา สะระแหน่ มะกรูด และพริก โดยเริ่มต้นจากผู้นำชุมชนและ อสม. ปลูกก่อน และขยายผลไปสู่ทุกหลังคาเรือน ส่งเสริมการปลูกพืชสมุนไพร ให้กับเครือข่ายสุขภาพ เช่น กลุ่มรักษ์สมุนไพรบ้านนาเมือง กลุ่มสมุนไพรโรงเรียนบ้านนาเมือง กลุ่มสมุนไพรโรงเรียนบ้านหนองหว้านาคำ กลุ่มสมุนไพรบ้านโจด สมุนไพรที่ส่งเสริมให้ปลูก คือ ขมิ้นชัน ไพล หญ้าปักกิ่ง ฟ้าทะลายโจร ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สมุนไพร เช่น สมุนไพรไล่มอดในข้าวสาร เสื้อหอมดับกลิ่น เสื้อหอมไล่ยุง น้ำดื่มสมุนไพร ฝางแดง อัญชัน โดยไม่ใช้น้ำตาลใช้หญ้าหวานแทน น้ำข้าวกล้อง(ข้าวก่ำ) ยำสมุนไพรสาว ๑๘ เป็นต้น
ผลงานเด่นที่ภูมิใจ
๑) ๑๐ ผักสามัญประจำบ้าน เป็นการส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกผักที่หาง่ายในท้องถิ่น และชาวบ้านใช้ประกอบอาหารกินเป็นประจำ ที่สำคัญผักมีคุณค่าทางยาด้วย คือ กระชาย กระเพรา ขิง ข่า ตะไคร้ โหระพา แมงลัก สะระแหน่ มะกรูด และพริก เริ่มต้นดำเนินปี ๒๕๕๒ จำนวน ๑ หมู่บ้าน คือบ้านนาคำซึ่งเป็นหมู่บ้านต้นแบบสุขภาพดี วิถีพอเพียงด้วย และปี ๒๕๕๓ จึงขยายผลให้ทุกหมู่บ้านดำเนินการปลูกทุกหลังคาเรือน และในปี ๒๕๕๔ หมู่บ้านต้นแบบสุขภาพดี วิถีพอเพียงในเขตรับผิดชอบ ได้ผ่านการประเมินเป็นหมู่บ้านต้นแบบดีเด่นระดับอำเภอ ๑ หมู่บ้าน คือ บ้านลาด หมู่ที่ ๓ และหมู่บ้านระดับดี ๑ หมู่บ้าน คือ บ้านนาคำ หมู่ที่ ๔
๒)ยาล้อม เป็นการส่งเสริมภูมิปัญญาหมอพื้นบ้าน ที่มีชาวบ้านนิยมไปใช้บริการและเป็นอาการที่น่าส่งเสริม จึงได้สนับสนุนและช่วยเผยแพร่ภูมิปัญญาดังกล่าว ยาล้อม เป็นการรักษาทั้งคนและสัตว์ เพื่อป้องกันการตกเลือด และการแท้งบุตร ที่ได้ผลและน่าเชื่อถือสืบต่อกันมาหลายชั่วคนแล้ว สมุนไพรที่ใช้ มี ต้นย่านางแดง ต้นจันทน์ขาว ต้นจันทน์แดง รากก้นครก ผักบุ้งช้าง และมะพร้าวอ่อน โดยการฝนให้ทั้งคนและสัตว์กิน เมื่อหมอพื้นบ้านได้รับการส่งเสริมก็มีคนไปใช้บริการเพิ่มขึ้น
๓)สมุนไพรไล่มอดในข้าวสาร ชาวบ้านเราจะกินข้าวเหนียวเป็นส่วนใหญ่ จึงต้องมีการสีข้าวสารไว้ประจำบ้าน ปัญหาที่พบคือข้าวสารเกิดมอด รพ.สต. บ้านนาเมือง จึงได้สูตรการผลิตสมุนไพรไล่มอดในข้าวสารมาจากการเข้าอบรมหลักสูตรระยะสั้นในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ที่เมืองทองธานี ปี ๒๕๕๒ โดยสมุนไพรที่ใช้ มี เม็ดพริกไทยดำ ตะไคร้ ผิวมะกรูด พริกขี้หนูแห้ง และเกลือ เป็นสมุนไพรที่หาได้ง่าย จึงได้นำมาทำและนำไปทดลองใช้ ปรากฏว่าได้ผล จึงได้มีการผลิตและจำหน่ายมาจนถึงทุกวันนี้
สิ่งที่คิดจะทำต่อไป
สร้างเครือข่ายด้านการแพทย์แผนไทย โดยการส่งเสริมภูมิปัญญาหมอพื้นบ้าน แต่ละสาขาให้มีความรู้ความสามารถและเป็นที่ยอมรับแก่ชาวบ้าน โดยมีเจ้าหน้าที่ช่วยกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดส่งเสริมให้ทุกหมู่บ้าน ทุกโรงเรียน ปลูก ๑๐ ผักสามัญประจำบ้าน และพืชสมุนไพร และนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อใช้ในชุมชน โรงเรียนและจำหน่ายเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนและโรงเรียนประสานงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้สนับสนุนงบประมาณ และความรู้ด้านวิชาการเพื่อให้ชุมชนและโรงเรียนส่งเสริมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภูมิปัญญาหมอพื้นบ้านและการปลูกพืชสมุนไพรที่จำเป็นในท้องถิ่น การดำเนินงานด้านการแพทย์แผนไทยในสถานบริการสาธารณสุข นั้น จะต้องเริ่มต้นจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเรา ต้องมีใจรัก ทุกคนทำงานแพทย์แผนไทยด้วยใจรัก ว่าอย่างไรว่าตามกัน ไม่ใช่ทำเพื่อให้ผ่านการประเมินตามมาตรฐานที่ตั้งไว้เฉยๆ จะต้องทำต่อเนื่องและทำควบคู่ไปกับงานด้านบริการอื่นๆด้วย ยิ่งถ้าเรานำแนวคิดตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงมาประยุกต์ใช้ด้วยแล้ว การดำเนินงานแพทย์แผนไทยก็จะยิ่งง่ายขึ้น ถ้าเราทำด้วยใจ เราก็จะได้ใจ จากทุกภาคส่วนที่จะเต็มใจมาช่วยเราขอให้ทุกท่านทำงานแพทย์แผนไทยด้วยความสุขใจ ถ้าทำแล้วไม่สุขใจ ไม่ใช่งานแพทย์แผนไทย
ความประทับใจ
เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๕๔ นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก พร้อมคณะเดินทางมาที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลนาเมือง เพื่อตรวจเยี่ยมการดำเนินงาน และมอบนโยบาย เกี่ยวกับกิจการแพทย์แผนไทยว่าจะดำเนินการในอนาคตไปในทิศทางใดที่เป็นประโยชน์ต่อตัวผู้ปฏิบัติงานและผู้รับบริการ
โดยมีนายชัชวาลย์ ศิริพันธ์ นายอำเภอเสลภูมิ นายสง่า สงครามภักดี สาธารณสุขอำเภอเสลภูมิ นายอุปทิน รุ่งอุทัยศิริ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเสลภูมิ นายวิบูลย์ ทนงยิ่ง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลนาเมือง และเครือข่ายผู้ให้บริการแพทย์แผนไทยให้การต้อนรับ.
พิมลสิริ มณีฉาย /รวบรวมรายงาน
|