สาธารณสุขร้อยเอ็ด เตือนระวัง ฉี่หนูระบาด อีสานตอนบนเสียชีวิตแล้ว ๘ ราย
นายแพทย์ภาสกร ไชยเศรษฐ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ ๖ จังหวัดขอนแก่น ได้เผยพบการระบาดของโรคฉี่หนูที่อีสานตอนบน เตือนประชาชนระวัง ! หลังพบสถานการณ์โรคจากกลุ่มงานระบาดวิทยาและข่าวกรองตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๔ ถึง สิงหาคม ๒๕๕๔ มีผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าวแล้วถึง ๘ ราย
สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ ๖ จังหวัดขอนแก่น เปิดเผยสถิติล่าสุดของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เดือนสิงหาคม ๒๕๕๔ พบผู้ป่วยในเขตพื้นที่อีสานตอนบน ๑๐๔ ราย จังหวัดที่พบผู้ป่วยมากที่สุดคือ ขอนแก่น รองลงมาคือหนองบัวลำภูและเลย ซึ่งโรคนี้พบผู้ป่วยได้เกือบตลอดทั้งปี และพบผู้ป่วยมากในช่วงเดือนกรกฎาคมถึง กันยายนของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงที่เกษตรกร ทำไร่ ทำนา มีฝนตกชุก และน้ำท่วมขัง ซึ่งขณะนี้ ฝนตกชุกทั่วทุกภาค ทำให้เกิดน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ สภาพแวดล้อมเอื้ออำนวยต่อการเกิดการระบาดของโรคฉี่หนู จึงขอเตือนประชาชนให้ระวัง เพราะโรคนี้เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศ ทุกวัย หากประชาชนไม่ทราบว่าตนเองป่วยหรือป่วยแล้วไม่สนใจไปรับการตรวจรักษา ปล่อยทิ้งไว้นานอาจเสียชีวิตได้
โรคฉี่หนูเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน ซึ่งมีหนูเป็นตัวนำเชื้อ โดยเชื้อจะออกมากับปัสสาวะหนู แล้วมาปนเปื้อนในแม่น้ำลำคลอง พื้นที่น้ำขัง พื้นที่ชื้นแฉะ บุคคลที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคฉี่หนู คือ ผู้ที่ลุยน้ำหรือแช่น้ำนานๆ เช่น ชาวนา ชาวสวน ผู้ที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง เชื้อโรคดังกล่าวสามารถเข้าสู่ร่างกายโดยการไชเข้าทางบาดแผลหรือเนื้อเยื้ออ่อนๆ เช่นง่ามมือ ง่ามเท้า และตา ในขณะแช่น้ำ หรือรับประทานอาหารที่ไม่สะอาดมีฉี่หนูปนเปื้อนในอาหารนั้นๆ อาการของโรค คือ มีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะน่องและโคนขา หรือปวดหลัง บางรายอาจมีตาแดง เบื่ออาหาร ท้องเดิน เจ็บคอ หากพบอาการดังกล่าวหลังไปแช่น้ำย่ำโคลนมา ๒ - ๒๖ วัน(โดยเฉลี่ย ๑๐ วัน) ควรนึกถึงน่าจะเป็นอาการของโรคฉี่หนู ไม่ควรหายามารับประทานเอง และควรรีบไปพบแพทย์ที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านโดยด่วน
การป้องกัน ควรหลีกเลี่ยงการย่ำน้ำ หรือแช่น้ำ หรือโคลนนานๆโดยเฉพาะเมื่อมีบาดแผลตามแขน ขา มือ เท้า ถ้ามีความจำเป็นต้องย่ำหรือแช่น้ำ ควรสวมรองเท้าบู๊ท สวมถุงมือยาง และชำระล้างร่างกายโดยเฉพาะบริเวณบาดแผลให้สะอาดทันทีหลังจากลุยน้ำหรือเมื่อขึ้นจากน้ำ ดูแลที่พักอาศัย บ้านเรือนให้สะอาด ปราศจากสัตว์กัดแทะโดยเฉพาะหนู เก็บกวาด ทิ้งขยะให้มิดชิดไม่เป็นแหล่งอาหารของหนู และรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ หรือเก็บอาหารในภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิด.
พิมลสิริ มณีฉาย ภาพและข่าว
|