|
** สธ. เผยไข้เลือดออกปี 59 ป่วยแล้ว 583 ราย ยังไม่มีผู้เสียชีวิต คาด ระบาดหนักกว่าปี 2558 แนะประชาชนใช้มาตรการ 3 เก็บ กำจัดลูกน้ำยุงลาย แหล่งเพาะพันธุ์ยุง ชี้ เป็นโอกาสทองช่วยลดการเกิดโรคก่อนถึงช่วงระบาดในฤดูฝน **
นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีนายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยต่อสถานการณ์โรคไข้เลือดออก ว่า สำนักระบาดวิทยา สธ. ได้เฝ้าระวังโรคไข้เลือดออก ตั้งแต่วันที่ 1 - 11 ม.ค. 2559 พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกทั่วประเทศ 583 คน ไม่มีผู้เสียชีวิต ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะเป็นในกลุ่มอายุ 15 - 24 ปี ร้อยละ 31.39 แสดงให้เห็นว่ามีการระบาดในกลุ่มนักเรียนไปจนถึงวัยทำงาน จังหวัดที่มีรายงานผู้ป่วยต่อแสนประชากรสูง 5 อันดับแรก ได้แก่ นครปฐม ภูเก็ต พิจิตร ศรีสะเกษ และสงขลา ซึ่งช่วงนี้เป็นฤดูหนาวไม่ใช่ฤดูการระบาดของโรค แต่จากการวิเคราะห์และพยากรณ์โรคไข้เลือดออกของกรมควบคุมโรคคาดว่า ปี 2559 จะมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกประมาณ 166,000 คน สูงกว่าปี 2558 ที่พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก 142,925 คน เสียชีวิต 141 ราย โดยจะพบผู้ป่วยเฉลี่ย 5,000 - 7,500 คนต่อเดือน และจะพบสูงขึ้นในฤดูฝนช่วงเดือน มิ.ย.- ส.ค. อาจมากกว่า 25,000 รายต่อเดือน
นพ.โสภณ กล่าวว่า ตนได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ทั่วประเทศ ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โรงเรียน วัด เอกชน รณรงค์ให้ความรู้ประชาชนในการร่วมมือป้องกัน ควบคุมโรคอย่างเข้มข้น ต่อเนื่อง ทั้งการกำจัดลูกน้ำยุงลาย กำจัดยุงตัวแก่ การทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และการป้องกันตัวเองไม่ให้ถูกยุงกัด โดยเฉพาะในอำเภอที่คาดว่าจะเสี่ยงต่อการระบาดสูงที่มีมากถึง 228 อำเภอ ใน 56 จังหวัด กระจายอยู่ทุกภาค โดยเฉพาะแหล่งชุมชนที่มีปัญหาสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม ทั้งการกำจัดขยะ แหล่งเพาะพันธุ์ยุง โดยช่วงนี้เป็นโอกาสทองในการกำจัดลูกน้ำยุงลายให้เหลือน้อยที่สุดเพื่อลดการเกิดโรคในฤดูฝนของปีนี้
นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า มาตรการควบคุมป้องกันโรคที่แนะนำให้ประชาชนปฏิบัติ คือ 3 เก็บ ได้แก่
1. เก็บบ้านให้สะอาดเรียบร้อย ปลอดโปร่ง ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง
2. เก็บขยะ เศษภาชนะ รอบ ๆ บ้าน ทั้งใบไม้ กล่องโฟม จานรองกระถางต้นไม้ ต้องเก็บกวาด ฝัง เผา หรือทำลาย
และ 3. เก็บน้ำ ต้องปิดฝาให้มิดชิดป้องกันยุงลายลงไปวางไข่ ดำเนินการไปพร้อม ๆ การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง และการป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัด ทั้งการทายากันยุง กำจัดยุงโดยใช้ไม้ช็อตไฟฟ้า จุดสมุนไพร หรือยาจุดไล่ยุง หรือวิธีป้องกันยุงโดยภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นต้น
ทั้งนี้ โรคไข้เลือดออกเกิดจากไวรัสเดงกี่ มี 4 สายพันธุ์ คือ เดงกี่ 1, เดงกี่ 2, เดงกี่ 3 และ เดงกี่ 4 อาการของไข้เลือดออก ได้แก่ ไข้สูงลอยเกิน 2 วัน ไข้จะสูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส เบื่ออาหาร อาเจียน กินยาลดไข้แล้วมักไม่ลดลง หรือลดลงชั่วคราวแล้วกลับมาสูงอีก หลังจากนั้น จะมีอาการเลือดออกตามอวัยวะต่าง ๆ เช่น มีเลือดกำเดา มีจุดเลือดออกใต้ผิวหนังที่แขนขา ข้อพับ ผิวหนัง เลือดออกในอวัยวะภายในโดยอาเจียนเป็นเลือด หรือ ถ่ายเป็นเลือด เป็นต้น ควรไปพบแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาทันที โรคนี้ไม่มียารักษาเฉพาะ การรักษาแบบประคับประคอง
Cr. หนังสือพิมพ์ผู้จัดการhttp://www.manager.co.th/Qol/ViewNews.aspx?NewsID=9590000006311
/////////////////////////////
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด
๒๑ มกราคม ๒๕๕๙
พิมลสิริ มณีฉาย ภาพ/ข่าว
ทองสุข โพนเงิน /หัวหน้าฝ่ายสุขศึกษาและประชาสัมพันธ์ |
|
|