|
สธ.แนะ..**กินเจ อิ่มบุญ อิ่มใจ สุขภาพดี ด้วย ๔ ล.** |
|
|
|
|
|
นายปิติ ทั้งไพศาล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด เผยว่า ในเทศกาลกินเจที่จะถึง คือช่วงระหว่างวันที่ ๑๓ - ๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๘ เป็นช่วงเวลาที่ประชาชนจะทำบุญถือศีล ด้วยการละเว้นจากการบริโภคเนื้อสัตว์หันมากินผัก ผลไม้ เพิ่มมากขึ้น ถือเป็นโอกาสดีในการสร้างสุขภาพ ช่วยลดความเสี่ยงป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง แต่จะต้องกินให้ถูกหลักโภชนาการ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ในปีที่ผ่านมาพบว่า ๑ ใน ๔ ของผู้ที่เป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูงที่กินเจ ไม่สามารถควบคุมอาการได้ เนื่องจากอาหารเจที่จำหน่ายส่วนใหญ่ มักทำจากแป้ง เป็นอาหารทอด ไขมันสูง และเค็ม จึงทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น และส่งผลกระทบต่อสุขภาพ
ขอให้ประชาชนกินเจ ตามที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำ เพื่อผลดีต่อสุขภาพ ช่วยสร้างภูมิต้านทานโรค และลดการเจ็บป่วยได้ โดยยึดหลักว่า กินเจ อิ่มบุญ อิ่มใจ สุขภาพดีด้วย ๔ ล. ได้แก่ :
๑.ละ กิเลส เลี่ยงการกินเนื้อสัตว์เทียม และหมี่กึง ซึ่งทำมาจากแป้ง
๒.เลือก กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ได้แก่ ข้าวกล้อง ธัญพืช กินเห็ด ถั่วต่างๆ เต้าหู้ ป้องกันการขาดโปรตีน และเพิ่มผัก ผลไม้ให้หลากหลาย หลากสี
๓.ล้าง ผักผลไม้ให้สะอาดตามขั้นตอน ก่อนปรุง ก่อนกิน โดยล้างผ่านน้ำไหล ๒ นาทีตามด้วยการแช่ในสารละลายเกลือ น้ำส้มสายชู ผงฟู ประมาณ ๑๕ นาที หรือน้ำยาล้างผัก แล้วล้างตามด้วยน้ำชะสารละลายออกให้หมด จะขจัดเชื้อโรค และลดการปนเปื้อนสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างลงได้ถึงร้อยละ ๖๐ - ๙๒
๔.ลด อาหารที่มีรสหวาน มัน เค็ม ของทอด อาหารประเภทผัดน้ำมัน ปรุงรสจัด
สำหรับการเลือกซื้ออาหารเจที่บรรจุในภาชนะพร้อมจำหน่าย ขอให้ประชาชนสังเกตฉลาก จะต้องมีข้อความเป็นภาษาไทย และแสดงชื่ออาหาร เลขสารบบอาหาร ชื่อและที่ตั้งผู้ผลิต ผู้แบ่งบรรจุ หรือผู้นำเข้า ส่วนประกอบอาหาร น้ำหนักสุทธิ วันเดือนปีที่ผลิต และหมดอายุหรือควรบริโภคก่อน ส่วนอาหารปรุงเสร็จ ขอให้ซื้อจากร้านและแผงลอยที่มีป้ายอาหารสะอาด รสชาติอร่อย ผู้ปรุง ผู้ให้บริการแต่งกายสะอาด สวมผ้ากันเปื้อน หมวกคลุมผม และไม่ใช้มือหยิบอาหาร
สำหรับท่านที่ทานเจ ห้ามกินผักฉุนทั้ง ๕ ชนิด เพราะผักฉุนดังกล่าว มีพิษทำลายพลังธาตุทั้ง ๕ ในร่างกาย ส่งผลให้อวัยวะหลักสำคัญภายในทั้ง ๕ ทำงานไม่ปกติ
๑. กระเทียม ทั้งหัวกระเทียม ต้นกระเทียม อาจส่งผลกระทบต่อธาตุไฟของร่างกาย แม้ว่ากระเทียมจะมีสารที่ช่วยลดคอเลสเตอรอล แต่กระเทียมมีความระคายเคืองสูง อาจไปทำลายการทำงานของหัวใจได้ ดังนั้น ผู้ที่เป็นโรคกระเพาะอาหาร หรือโรคตับ ไม่ควรรับประทานกระเทียมมา
๒. หัวหอม รวมไปถึงต้นหอม ใบหอม หอมแดง หอมขาว หอมหัวใหญ่ ซึ่งตามหลักการแพทย์โบราณของจีนเชื่อว่า หัวหอม จะกระทบกระเทือนต่อธาตุน้ำในร่างกาย และไปทำลายการทำงานของไต แม้ว่าหอมแดง จะมีฤทธิ์ช่วยขับลม แก้ท้องอืด แก้ปวดประจำเดือน แต่ไม่ควรบริโภคมากเกินไป เพราะจะทำให้เกิดอาการหลงลืมได้ง่าย นอกจากนี้ อาจส่งผลให้มีอาการตาพร่ามัว รวมทั้งมีกลิ่นตัวแรงกว่าปกติด้วย
๓. หลักเกียว หรือที่รู้จักว่า กระเทียมโทนจีน ลักษณะคล้ายหัวกระเทียมที่พบเห็นทั่วไป แต่จะมีขนาดเล็ก และยาวกว่า ในทางการแพทย์ของจีนเชื่อว่า หลักเกียว ส่งผลกระทบกระเทือนต่อธาตุดินในร่างกาย และไปทำลายการทำงานของม้าม
๔. กุยช่าย เชื่อกันว่า กุยช่าย จะไปกระทบกระเทือนต่อธาตุไม้ในร่างกาย และทำลายการทำงานของตับ
๕. ใบยาสูบ ไม่ว่าจะเป็นยาเส้น บุหรี่ หรือของเสพติดมึนเมา เนื่องจากสิ่งเสพติดเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อธาตุโลหะในร่างกาย และทำลายการทำงานของปอด.
///////////////////////
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด
๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๘
พิมลสิริ มณีฉาย ภาพ/ข่าว
ทองสุข โพนเงิน /หัวหน้าฝ่ายสุขศึกษาและประชาสัมพันธ์ |
|
|
|
|
|
|
Attachment: 748.73 kb By : ฝ่ายประชาสัมพันธ์ (192.168.11.*) 12/10/2015 12:08 PM |
|