|
สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด พัฒนาระบบบริการเครือข่ายศูนย์พึ่งได้ ในโรงพยาบาล เพื่อดูแลเด็กและสตรีที่ถูกกระทำรุนแรง ให้มีประสิทธิภาพ ต่อเนื่อง และยั่งยืน
วันนี้(๗ กรกฎาคม ๒๕๕๘) เวลา ๐๙.๓๐ น. ณ ห้องประดับทอง โรงแรมเพชรรัชต์การ์เด้นร้อยเอ็ด นายสุระ วิเศษศักดิ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การพัฒนาระบบการดูแลเด็กและสตรีที่ถูกกระทำรุนแรง เครือข่ายศูนย์พึ่งได้ หรือโอเอสซีซี (OSCC : One Stop Crisis Center อ่านว่า วัน-สะ-ต็อบ-ไคร-ซีส-เซน-เต้อ) จังหวัดร้อยเอ็ด โดยมีนายแพทย์บดินทร์ ผดุงสัตย์ หัวหน้ากลุ่มงานนิติเวช โรงพยาบาลร้อยเอ็ด รองประธานศูนย์พึ่งได้ จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นผู้กล่าวรายงาน
นายแพทย์บดินทร์ ผดุงสัตย์ เผยถึงข้อมูลการให้บริการของศูนย์พึ่งได้ จังหวัดร้อยเอ็ด ปี ๒๕๔๕ ๒๕๕๗ พบว่า มีเด็กและสตรีที่ถูกกระทำรุนแรง มารับบริการ จำนวน ๖,๘๕๕ คน ถูกกระทำรุนแรงทางด้านร่างกาย ๒,๒๑๘ คน ทางเพศ ๔,๔๓๗ คน และทางจิตใจ ๑๙๖ คน ผู้กระทำส่วนใหญ่เป็นบุคคลใกล้ชิดที่เด็กและสตรีไว้วางใจ เช่น ทางด้านร่างกายและจิตใจส่วนใหญ่เป็นสามี ส่วนทางด้านเพศ จะเป็นเพื่อนหรือแฟน ซึ่งข้อมูลดังกล่าว เปรียบเสมือนภูเขาน้ำแข็ง ที่โผล่เหนือพื้นน้ำขึ้นมาให้เห็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น แต่ยังมีเด็กและสตรีที่ถูกกระทำรุนแรงอีกจำนวนมาก ที่ไม่กล้ามาขอรับบริการ เนื่องจากเกิดความอับอาย ไม่ต้องการให้ผู้อื่นรับรู้ กลัวไม่ได้รับความปลอดภัย ไม่ได้รับความเป็นธรรม และไม่มั่นใจในการให้บริการของบุคลากร และไม่รับรู้หน่วยงานที่ให้บริการ ประกอบกับบุคลากรที่ให้การดูแลช่วยเหลือเด็กและสตรีที่ถูกกระทำรุนแรงบางส่วนยังขาดความรู้ ความเข้าใจ และตระหนักในปัญหาดังกล่าว รวมถึงขาดทักษะในการดำเนินงาน การมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อเด็กและสตรีที่ถูกกระทำรุนแรง
ศูนย์พึ่งได้ โรงพยาบาลร้อยเอ็ด ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด ได้ตระหนักเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงได้จัดทำโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การพัฒนาระบบการดูแลเด็กและสตรีที่ถูกกระทำรุนแรง เครือข่ายศูนย์พึ่งได้ จังหวัดร้อยเอ็ดขึ้น เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานศูนย์พึ่งได้ มีความรู้ ความเข้าใจ มีทักษะ มีความตระหนักในหน้าที่รับผิดชอบ มีการพัฒนาศูนย์อย่างต่อเนื่องมีคุณภาพได้มาตรฐาน สามารถเชื่อมโยงได้ทุกระดับ ให้บริการสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย แก่เด็กและสตรีที่ถูกกระทำรุนแรงให้สามารถกลับสู่ครอบครัว ชุมชน สังคมได้อย่างปกติสุข ผู้เข้าประชุม ประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจากโรงพยาบาลร้อยเอ็ด โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเขตอำเภอเมืองร้อยเอ็ด สาธารณสุขอำเภอ ผู้รับผิดชอบงานศูนย์พึ่งได้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด และคณะกรรมการศูนย์พึ่งได้ โรงพยาบาลร้อยเอ็ด วิทยากรจาก ตำรวจภูธรจังหวัดร้อยเอ็ด บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดร้อยเอ็ด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาร้อยเอ็ด เขต ๑ สำนักงานยุติธรรมจังหวัดร้อยเอ็ด และโรงพยาบาลร้อยเอ็ด
นายแพทย์สุระ วิเศษศักดิ์ กล่าวว่า พวกเราชาวสาธารณสุข ถึงเวลาที่จะทำการขันน๊อตให้แข็งแรงแล้ว การดำเนินงาน ศูนย์พึ่งได้ จะต้องทำจริงจังและต่อเนื่อง ให้ได้มาตรฐาน ให้บริการช่วยเหลือเด็กและสตรีและผู้ประสบความรุนแรงในครอบครัวทั้ง ๔ ด้าน แบบเบ็ดเสร็จ ครบวงจร ณ จุดเดียวในโรงพยาบาล ได้แก่ ด้านร่างกาย ด้านเพศ ด้านจิตใจ และด้านการถูกละเลยทอดทิ้ง ซึ่งเป็นงานที่ให้บริการด้วยความรักและหัวใจความเป็นมนุษย์ ตามหลักนโยบายด้านคุณธรรม จริยธรรม และระบบบริการเครือข่ายศูนย์พึ่งได้ จะต้องดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพสืบไป ทั้งนี้ ตนจะนำเอาเป็นนโยบายของผู้บริหาร ให้ระบบบริการเครือข่ายศูนย์พึ่งได้มีความแข็งแกร่ง และจะต้องดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพสืบไป นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าว.
ชมภาพ :https://www.facebook.com/profile.php?id=100003294191323&sk=photos&collection_token=100003294191323%3A2305272732%3A69&set=a.790969007689565.100003294191323&type=3
//////////////////////////////////
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด
๗ กรกฎาคม ๒๕๕๘
พิมลสิริ มณีฉาย ภาพ/ข่าว
สุขสันต์ อินทรวิเชียร /หัวหน้าฝ่ายสุขศึกษาและประชาสัมพันธ์
|
|
|